ข่าว

เปิด 4 ปัจจัย น้ำท่วมแม่สาย สาเหตุหลัก จากธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ?

เปิด 4 ปัจจัย น้ำท่วมแม่สาย สาเหตุหลัก จากธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ?

12 ก.ย. 2567

น้ำท่วมแม่สาย เชียงราย - เปิด 4 ปัจจัย แม่สายน้ำท่วมหนัก รอบ 80 ปี อ่วม 7 ครั้ง ใน 2 เดือน สาเหตุหลัก จากธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ?

12 ก.ย. 2567 สถานการณ์น้ำท่วมแม่สาย เชียงราย พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 80 ปี ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นบริเวณกว้าง ประชาชนที่ติดค้างอยู่ตามอาคารต่างๆ ยังคงยากลำบาก แต่ร้อยละ 80 สามารถออกจากจุดน้ำท่วมได้แล้ว 

 

ทางด้านของ BBC รายงานว่า ดร.ธนพล นักวิชาการอาวุโสจาก SEI (สถาบันอุปกรณ์ความปลอดภัย) เปิดเผยว่า น้ำท่วมแม่สายถี่เป็นประวัติการณ์ จากปกติ 2-3 ครั้งต่อปี ล่าสุด ปี 2567 มีรายงานน้ำท่วมที่แม่สายใน 2 เดือนที่ผ่านมาถึง 7 ครั้ง โดยได้ระบุถึงสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดท้ำท่วมหลายครั้งในพื้นที่อำเภอแม่สาย 4 ปัจจัย ดังนี้ 

 

ฝนตกมากกว่าปกติ 

 

พายุยางิ ไม่ใช่สาเหตุหลักของน้ำท่วมแม่สายในครั้งนี้ เนื่องจากในช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่มีความสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณฝนที่ตกลงมา กลายเป็นน้ำหลาก

 

นอกจากนี้ แม่สาย ยังมีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 8 เนื่องจาก ฤดูฝนของไทยยังต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกลางเดือน พ.ย.

พื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนสภาพ

 

ร้อยละ 80 ของ น้ำแม่สาย ต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมา ส่วนในประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุด

 

ระดับแม่น้ำโขง

 

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้น ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำสายเป็นไปได้ช้า

 

การขยายเมืองทั้งในฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก

 

ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แม่สายของไทยและท่าขี้เหล็กของเมียนมา ขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ระบายน้ำเดิมก็ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

 

ทางด้านของ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ม.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับ Thai PBS ว่า เนื่องจากความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านฝั่งท่าขี้เหล็ก และฝั่งแม่สาย ทำให้มีการรุกล้ำลำน้ำ ฉะนั้นพื้นที่ลำน้ำเดิมระหว่างท่าขี้เหล็กกับ แม่สาย ตลอดแนว จะมีการรุกล้ำทั้งสองฝั่ง ทำให้พื้นที่ของลำน้ำแม่สายในปัจจุบัน มีพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ของหน้าตัดลำน้ำเดิม 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่มีขนาดพื้นที่ซึ่งมีขนาดรับน้ำหลายร้อยตารางกิโลกเมตร ไหลลงมาที่สะพานท่าขี้เหล็ก-แม่สาย ทำให้ลำน้ำที่เล็ก ไม่สามารถรับมวลน้ำได้ และทำให้น้ำยกตัวสูงขึ้น และเข้าท่วมพื้นที่ และตลาดสายลมจอย เป็นพื้นที่หนึ่งที่สร้างลงไปในลำน้ำ