โรคปอดอักเสบพุ่ง 260,113 ราย ดับ 524 ราย อีสานล่างโคราชป่วยมากสุด
"นพ.ทวีชัย" เผย สถานการณ์โรคปอดอักเสบ ตั้งแต่ต้นปี พบป่วย 260,113 ราย เสียชีวิต 524 ราย ขณะที่ 2 เดือนล่าสุด 4 จ.อีสานล่าง "โคราช" มากสุด เกือบ 2,000 ราย
18 ก.ย. 2567 นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคปอดอักเสบประเทศไทยในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 – 7 กันยายน 2567 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยมากถึง 260,113 ราย และมีผู้เสียชีวิต 524 ราย โดยอัตราป่วยพบมากในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ในขณะที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง พื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ สะสม 24,342 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 26 ราย
ซึ่งสถานการณ์ในช่วง 8 สัปดาห์ หรือ ช่วง 2 เดือนล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2567 – 7 ก.ย. 2567 พบว่า เขตสุขภาพที่ 9 มียอดผู้ป่วยโรคปอดอักเสบสะสม สูงถึง 5,674 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสมมากสุด 1,952 ราย จำนวนมากสุด อ.สูงเนินและอ.โนนไทย รองลงมาคือ จ.บุรีรัมย์ 1,650 ราย ,จ.สุรินทร์ 1,404 ราย และ จ.ชัยภูมิ 668 ราย ตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ล
สำหรับ จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้โรคปอดอักเสบ อาจเกิดได้ทั้งจากไวรัสแบคทีเรียและเชื้อรา ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชื้นแฉะเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำ เสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบได้ง่าย แต่จะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุและสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ
โดยสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ ส่วนอาการทั่วไป มักจะมีอาการไข้สูง ตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก หายใจลำบาก หอบหายใจเร็ว อ่อนเพลีย ไอมีเสมหะ อาจเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอ เวลาไอแรงๆ อาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และผู้ป่วยสูงอายุอาจมีอาการซึมและสับสน เป็นต้น
ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้ต่อเนื่อง สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการไอต่อเนื่อง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา จึงฝากย้ำมายังพี่น้องประชาชนได้ดูแลสุขภาพร่ายกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าเพิ่มความอบอุ่นให้เหมาะสมเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมทั้งดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ไม่ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือภาชนะร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย