ข่าว

น้ำล้นแม่โขง ท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์

น้ำล้นแม่โขง ท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์

19 ก.ย. 2567

น้ำโขงสูง ส่งผล "น้ำสงคราม-น้ำอูน" ล้นฝั่ง ไหลเข้าท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเดือดร้อนซื้อฟางวันละ 1,000 บาท

19 ก.ย. 2557 สถานการณ์น้ำโขงในพื้นที่ จ.นครพนม สูงเกือบ 12 เมตร ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ แนวตลิ่งติดชายแดนแม่น้ำโขง ยังกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เดือดร้อนหนัก เนื่องจากปริมาณน้ำล้นชายฝั่ง จึงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหาย มีภาพรวมทั้งจังหวัดเกือบๆ 80,000 ไร่ 

 

หนักสุดอยู่ที่ อ.ศรีสงคราม ปีนี้นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 50,000 ไร่ หากในช่วง 1-2 สัปดาห์ ระดับน้ำโขงยังไม่ลด ต้นข้าวที่ยังมีโอกาสฟื้น อาจจะได้รับความเสียหายทั้งหมด อยู่ระหว่างการสำรวจของหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อรายงานให้การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา 

น้ำล้นแม่โขง ท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์

ส่วนพื้นที่บ้านเรือนเริ่มมีน้ำท่วมขัง จากกรณีน้ำโขงหนุนลำน้ำสาขา สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี เนื่องจากอยู่ติดกับลำน้ำอูน และ ลำน้ำสงคราม ลักษณะคล้ายเป็นเกาะกลางน้ำ มีบ้านเรือนราษฎรเป็นจุดเสี่ยงประมาณ 300 หลังคาเรือน 

 

หลังจากน้ำเอ่อล้นเกินความจุ จึงกระทบท่วมบ้านเรือน แต่ชาวบ้านคุ้นเคยเป็นวิถีชีวิต สามารถปรับตัวตามสภาพได้ โดยมีการปลูกสร้างบ้านยกสูง และเตรียมพร้อมเก็บสิ่งของขึ้นที่สูงทุกปี 

 

น้ำล้นแม่โขง ท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์

ในส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก คือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โค กระบือ เนื่องจากเป็นหมู่บ้าน ที่มีการเลี้ยงกระบือ จำนวนมากกว่าพันตัว ปกติจะปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เพราะมีทุ่งเลี้ยงสัตว์กว้าง แต่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังต้องต้อนโคกระบือ ขึ้นไปเลี้ยงบนเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง ทำให้เริ่มขาดแคลนอาหารสัตว์โดยเฉพาะหญ้า เกษตรกรบางรายแบกภาระซื้อหญ้าหรือฟางอัดก้อน วันละนับ 1,000 บาท

 

 

ส่วนข้าวนาปีเกษตรกรจะเสี่ยงเพาะปลูก หากปีไหนน้ำท่วมจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ต้องรอชดเชยเยียวยาจากทางรัฐ ส่วนใหญ่จึงหันมาทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง 

 

ขณะเดียวกัน นายสามารถ อ่อนสองชั้น ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม และ นายพินิจ ศรีเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปส่งมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน แจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อ.บ้านแพง อ.ศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม เบื้องต้นแจกจ่ายแล้วกว่า 1,900 ฟ่อนๆละ 20 กิโลกรัม และอยู่ระหว่างเร่งจัดสรรการดูแลช่วยเหลือ ให้เพียงพอกับความต้องการเกษตรกร หาก 2 -3 สัปดาห์ระดับน้ำไม่ลดยิ่งจะส่งผลกระทบหนัก 

 

น้ำล้นแม่โขง ท่วมนาข้าวเกือบ 8 หมื่นไร่ ขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์