เตรียมตั้งรับ พายุซูลิก แผลงฤทธิ์ ฝนเริ่มหนัก เคลื่อนตัวช้าๆ เข้า นครพนม
พายุโซนร้อน "ซูลิก" แผลงฤทธิ์ ฝนเริ่มตกหนัก นครพนม เร่งเดินเครื่องสูบน้ำลงโขง รับมือน้ำท่วม ศูนย์กลางพายุยังอยู่เวียดนาม
19 ก.ย. 2567 เวลา 22.00 น. มีรายงานหลัง "พายุโซนร้อนซูลิก" ได้ขึ้นฝั่งเวียดนามที่เมืองกวางตรี เมื่อช่วงบ่าย 4 โมงเย็น กระทั่งเวลาประมาณทุ่มเศษเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศ สปป.ลาว และเข้าสู่พื้นที่ จ.นครพนมตามลำดับ โดยอิทธิพลของพายุเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนัก คาดจะตกต่อเนื่องตลอดทั้งคืน
ทั้งนี้เทศบาลเมืองนครพนม เตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ได้เดินเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าอัตโนมัติขนาดใหญ่ รวม 7 จุด เพื่อระบายน้ำออกจากตัวเมืองลงสู่น้ำโขง แต่ในช่วงนี้ระดับน้ำโขงยังสูง แม้จะลดลงบ้างแล้ว
ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 11.70 เมตร ห่างจากจุดเฝ้าระวังล้นตลิ่ง 30 เซนติเมตร คือ ที่ 12 เมตร ทำให้มวลน้ำในพื้นที่ รวมถึงลำน้ำสาขาไหลระบายลงน้ำโขงช้า ยิ่งหากมีฝนตกต่อเนื่อง จะต้องเดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งระบายมวลน้ำลงโขงให้เร็วที่สุด ป้องกันน้ำรอระบายเอ่อท่วมตัวเมือง ย่านชุมชนเศรษฐกิจการค้า
ส่วนปัญหาน้ำโขงเอ่อล้นทะลักท่วมตัวเมืองนครพนม รวมถึงอำเภอชายแดน 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม ยังมีโอกาสยาก เพราะระดับเขื่อนป้องกันตลิ่งสูง สามารถรองรับน้ำโขงได้ถึง 15 เมตร จะมีเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงพื้นที่การเกษตรติดแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบ หากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีกหลายวัน คาดว่าระดับน้ำโขงจะไม่ลดระดับลง เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากหลายพื้นที่ไหลมาสมทบ
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เนื่องจากเป็นจุดรวมน้ำ สาขาสายหลัก ทั้งลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ไหลมาบรรจบกัน ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน แต่ในช่วงน้ำโขงสูงหนุน ทำให้ไม่สามารถระบายลงโขงได้
ล่าสุดมีปริมาณเกินความจุถึงร้อยละ 50 จนเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวของเกษตรกร จำนวนกว่า 50,000 ไร่ โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งสำรวจให้การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา รวมถึงสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ โค กระบือ ได้รับผลกระทบไม่มีเริ่มขาดหญ้า
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนของชาวบ้านบางส่วนเกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากพื้นที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งลำน้ำสาขา ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี ชาวบ้านจึงปลูกสร้างบ้านเป็นแบบยกสูง พอน้ำมาต้องอาศัยอยู่ชั้นบน โดยมีภาครัฐให้การดูแลช่วยเหลือ จนกว่าระดับน้ำลด บางปีท่วมขังนานกว่า 2 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม เวลา 00.30 น. วันที่ 20 กันยายน 67 ว่าซูลิกยังคงเป็นโซนร้อนอยู่ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนาม และเคลื่อนตัวค่อนข้างช้า คาดจะอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น บริเวณพื้นที่ จ.นครพนม และยังคงเส้นทางเดิมอยู่ เมื่อพายุเคลื่อนถึง จ.เลย จะอ่อนเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และจะทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน มีกำลังแรงมากขึ้น ฝนหนักจะเริ่มตั้งแต่คืนนี้(20 กย.)เป็นต้นไป