นายกรัฐมนตรี รับปากช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ่อลงพื้นที่ให้กำลังใจ
นายกรัฐมนตรี ชื่นชมกู้ภัย-เอกชน มอบสิ่งของจำเป็นส่งต่อผู้ประสบภัย กำชับนำสัญญาณโทรศัพท์เข้าพื้นที่ ขาดเหลืออะไรขอให้บอกรัฐบาล
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน "ประสานพลัง ประสานใจ" ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยได้เข้าไปพูดคุยเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ในส่วนของรัฐ อยากฝากการดูแลทั้ง 3 ส่วน ทั้งก่อน ระหว่าง หลัง จากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย
น.ส.แพทองธาร รับปาก พร้อมยินดีนำข้อมูลมาเป็นบทเรียน ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะมีการแชร์ข้อมูลกัน เพราะก็มีหน่วยภาคเอกชนที่ยินดีนำของมาสนับสนุน ช่วยเหลือประชาชนหลายหน่วยงาน และหากขาดเหลืออะไรขอให้บอกรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือและกำชับถุงยังชีพนั้น ให้บรรจุผ้าอนามัยด้วย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง
นอกจากนี้ยังสอบถามผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ว่า ให้นำรถโมบายเข้าพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ติดต่อสื่อสารไม่ได้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า น่าจะมีการลงพื้นที่แต่ยังไม่แน่ใจว่าพื้นที่ใด ขอให้ได้มีการพูดคุยกันก่อน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจะมีการพูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กร และภาคเอกชน ก่อนจะร่วมมอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค ไปยังพื้นที่ประสบภัย และเปิดโอกาสให้หน่วยต่างๆได้เสนอแนะ
แชมป์ กษิดิศ ธีระประทีป นักเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก ตัวแทนจากสมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย กล่าวเสนอแนะเรื่องของการป้องกันว่า ตนอยากเสนอให้มีการทำเขื่อนริมแม่น้ำสาย โดยการใช้เข็มตัว L ต่อกันทั้งสองฝั่ง และเอาดินเหนียวใส่ตรงกลาง มีแนวยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ตั้งแต่ด่านแม่สายแห่งที่ 1 ไปด่านแม่สายแห่งที่ 2 เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วมได้ พร้อมให้ยกระดับถนนตรงเกาะทราย และทำบังเกอร์ ป้องกันน้ำกระเซาะถนน ตนจึงอยากเสนอแผนนี้ให้กับคณะกรรมการน้ำ ผ่านท่านนายกรัฐมนตรี หากแผนนี้เห็นชอบ ตนก็จะเสนอตัวเข้าไปช่วย เพราะตนก็เป็นวิศวกรด้วย
นายกฯรัฐมนตรี ตอบว่า ส่วนตัวลงไปในพื้นที่และเห็นว่าเจ็ตสกีสำคัญมาก เพราะจากที่เห็นเครื่องมือใหญ่ไม่สามารถเข้าไปช่วยชาวบ้านได้ แต่เจ็ตสกีเข้าไปได้ ตนจึงได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า อาจจำเป็นต้องจัดซื้อหรือไม่
ตัวแทนทีมตอบโต้ภัยพิบัติ เสนอรัฐบาลให้เป็นตัวกลาง จัดทำแอปพลิเคชันสักหนึ่งตัวเป็น "กู้ภัยแห่งชาติ" เพื่อขอความช่วยเหลือและรายงานตัวหน่วยกู้ภัย เพราะที่ผ่านมาต้องไปรายงานตัวที่หน่วยงานราชการ เสียเวลาไปแล้วครึ่งวัน ซึ่งหากรายงานผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้ เขาก็จะได้สามารถเข้าหน้างานทำงานได้ทันที
ตัวแทนมูลนิธิเพชรเกษม กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ภาคเอกชนทุกหน่วยงานเป็นแขนขาให้กับรัฐบาล ตนจึงอยากเสนอให้รัฐบาล ยกเว้นภาษีให้กับองค์กรการกุศลเพราะองค์กรการกุศลทำเพื่อประชาชนทำเพื่อประเทศ ขอให้พิจารณาและอนุเคราะห์ว่า องค์กรไหนเข้าเกณฑ์อย่างไร เพราะอาสาสมัครไม่ได้ต้องการอะไร ทำด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังเพราะยังเป็นน้ำและยังมีพายุที่จะเข้ามา ขณะเดียวกันติดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจราจร เพราะขณะนี้มีคนเอาของบริจาคไปจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เรื่องจราจรจะเร่งประสานไปที่จังหวัดให้เข้าไปแก้ไขโดยเร็ว ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้เน้นย้ำ ตั้งแต่ ศปช.ขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าทำอย่างไรให้ค่าเยียวยาถึงประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยยึดตามมติเก่าก่อนเพื่อให้เงินถึงมือประชาชนเร็วที่สุด
ขณะที่ตัวแทนกู้ภัยจากอำเภอแม่สาย ได้สะท้อนปัญหา เรื่องการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ซึ่งการแจ้งเตือนเกิดขึ้นบ่อยจนประชาชนไม่มีความมั่นใจและไม่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อน้ำมาจริงทำให้ประชาชนตั้งตัวไม่ทัน และกู้ภัยในอำเภอแม่สายเอง มีอยู่เพียงสามหน่วย ที่สำคัญคือขาดเครื่องอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน
ในวันแรกที่น้ำมา เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง แต่ไม่มีเรือ หรือ เจ็ตสกี รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ จะต้องรอหน่วยใหญ่ๆลงไปถึงพื้นที่ จึงสามารถนำเครื่องมือมาช่วยประชาชนได้