รู้จัก "เมฆอาร์คัส" สัญญาณพายุฝน โผล่ท้องฟ้า อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
รู้จัก "เมฆอาร์คัส" หรือ "เมฆกันชน" สัญญาณพายุฝน โผล่ท้องฟ้า อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นอันตรายหรือไม่
20 ก.ย. 2567 เพจ "สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย" โพสต์ภาพก้อนเมฆ ลอยอยู่บนฟ้าเกาะกลุ่มกันเป็นรูปทรงกลม ด้านล่างของก้อนเมฆหยาดย้อยลงมา พร้อมระบุข้อความว่า "สัญญาณพายุฝน เกิดเมฆอาคัสที่บ้านด่าน ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ"
เมฆอาร์คัส คืออะไร?
"เมฆอาร์คัส" (Arcus Cloud) เป็นปฏิกิริยาหนึ่งของ เมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (CB) ซึ่งเป็นเมฆชั้นต่ำ ที่ก่อตัวในแนวระนาบ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. Shelf Cloud เป็นเมฆชั้นต่ำตระกลูเดียวกับ Stratocumulus (SC) ซึ่งจะก่อตัวในแนวระนาบ ลักษณะเป็นลิ่มยื่นออกมาจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (CB) โดยที่อากาศเย็นจะไหลลงมาจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง และแผ่กระจายไปโดยรอบบริเวณผิวพื้น
ซึ่งแนวหน้าของลมที่ไหลลงมานั้นจะเรียกว่า Gust Front อากาศเย็นที่ไหลลงมานี้จะทำให้อากาศที่อุ่นกว่าบริเวณผิวพื้น ซึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าไหลขึ้นไป แล้วเกิดการกลั่นตัวเป็นเมฆ ที่มีลักษณะคล้ายชั้นวางสิ่งของ ที่ยื่นมาจากเมฆก้อนใหญ่ จึงเรียกอาร์คัสประเภทนี้ว่า Shelf Cloud นั่นเอง
2. Roll Cloud เป็นเมฆชั้นต่ำตระกูลเดียวกับ Stratocumulus (SC) และก่อตัวในแนวระนาบเช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนทรงกระบอกขนาดใหญ่ อาจยาวได้หลายกิโลเมตร สิ่งที่แตกต่างจาก Shelf Cloud คือ Roll Cloud นั้นจะไม่อยู่ติดกับเมฆชนิดอื่น จะเคลื่อนตัวออกไปจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง(CB) เกิดจาก Gust Front ที่สามารถทำให้อากาศบริเวณผิวพื้นเกิดการหมุนวน
โดยที่อากาศอุ่นบริเวณผิวพื้นด้านหน้า ถูกทำให้ไหลขึ้นไปด้านบนจากอากาศเย็นที่ไหลลงมาด้านหลัง แล้วเกิดการกลั่นตัวเป็นเมฆก้อนใหม่ มีลักษณะม้วนตัว แต่การม้วนตัวของเมฆทรงกระบอกนี้ จะดูตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ของมันเสมอ
สำหรับ "เมฆอาร์คัส" (Arcus) หรือ "เมฆกันชน" ไม่มีอันตรายโดยตรง แต่เนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของ เมฆฝนฟ้าคะนอง จึงมีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ โดยเฉพาะฟ้าผ่าแบบบวก (positive lighting) ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร อย่างไรก็ตามบริเวณฐานกลุ่มเมฆจะเป็นลมกด ซึ่ง ปรากฏการณ์อาร์คัส ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่าย
ขอบคุณข้อมูล : ห้องสมุด ผอต.กขค.คปอ