กลุ่มแรงงาน บุก แบงก์ชาติ เคลียร์ปม "เมธี" เกษียณแล้ว แต่ยังนั่งบอร์ดค่าจ้าง
กลุ่มแรงงาน ขอความชัดเจนแบงก์ชาติ ส่งตัวแทนนั่งบอร์ดค่าจ้าง หลังพบ "เมธี" เกษียณแล้ว ตอบไม่ชัดเกมการเมืองหรือไม่ แต่อำนาจเต็มอยู่ที่ไตรภาคี ลั่นล็อบบี้เป็นเรื่องจรรยาบรรณ
หลังจากการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รอบที่ 3 ของปี ต้องเลื่อนประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. นายเมธี สุภาพงษ์ ไม่ได้เป็นตัวแทน ธปท.แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท.ยืนยันกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามา เพื่อแต่งตั้งใหม่โดยผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
24 ก.ย. กลุ่มแรงงาน นำโดย นายแสงชัย อนมนวล เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรม สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอความชัดเจนกรณีนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกษียณอายุราชการ แต่ยังสามารถนั่งบอร์ดค่าจ้างได้หรือไม่ หากไม่ได้ ขอให้เร่งตั้งตัวแทนคนใหม่ โดยมีนางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนรับหนังสือ
นอกจากนี้กลุ่มแรงงานมีการชูป้าย 400 บาท เช่น รับปากแล้วต้องทำ , 400 บาทปีนี้ ไม่ต้องรอปีหน้า? , ค่าไฟแพง ค่าแรงถูก อยากมีลูก(เพิ่ม) ก็กลัวลำบาก เป็นต้น พร้อมตะโกน "ค่าแรง 400 ต้องได้"
ขณะที่นายแสงชัย กล่าวว่า เมื่อประชุมบอร์ดค่าจ้างคราวที่แล้ววันที่ 20 ก.ย. นายเมธี ตัวแทนฝั่งธปท.ไม่ได้เข้าร่วม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบและล่ม จะด้วยเหตุผลอะไร ตนไม่ทราบ วันนี้จึงมายื่นหนังสือถึง ดร.เศรษฐพุฒิ เอาให้ชัดเจนว่า นายเมธียังเข้าร่วมประชุมได้หรือไม่ หรือมีการตั้งตัวแทนคนใหม่ขึ้นมาหรือยัง เพื่อให้ครบไตรภาคี 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เพราะมีข่าวว่า ตัวแทนฝั่งธปท.จะหมดวาระ ซึ่งมองว่าค่าแรงควรเป็นเรื่องมติของไตรภาคี ไม่ใช่นโยบายการเมือง เมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ประชุมร่วมกันแล้วได้ข้อสรุปอย่างไร ก็ควรที่จะขับเคลื่อนไปอย่างนั้น ส่วน ธปท. จะมีความชัดเจนเมื่อไหร่ เป็นเรื่องภายในองค์กร ไม่อาจก้าวล่วง วันนี้แค่มาแสดงจุดยืน
ส่วนจะส่งสัญญาณอะไรให้กับไตรภาคีหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า มันเป็นอำนาจที่คุณมีแล้ว คุณต้องพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนส่วนมาก ฝ่ายลูกจ้างก็รออยู่ บางคนทำงานมา 20 ปี ค่าแรง 370 บาท บางคนไม่เคยได้ปรับขึ้นเลย รัฐบาลประกาศเท่าไหร่ก็ได้แค่นั้น บางคนกินค่าแรงขั้นต่ำจนถึงเกษียณ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเหล่านี้ควรที่จะขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวของไตรภาคีว่าอันไหนเหมาะหรือไม่ รวมถึงแต่ละจังหวัดก็มีอนุคณะกรรมการค่าจ้างอยู่ เขาก็จะดูของจังหวัดตัวเองอยู่แล้ว ส่วนระดับกระทรวงจะดูภาพรวมทั้งประเทศ
"ถ้าไม่ขึ้น น้องๆก็บอกว่าไม่ไหวแล้ว แค่คุณไปหาเสียงไว้ว่า คุณจะปรับค่าแรง ตอนนี้ไข่มาม่าปลากระป๋อง ปรับขึ้น ไม่ได้อยู่กับที่แล้ว ค่าครองชีพขึ้นไปเยอะ เพราะบอกต้นทุนจากน้ำมันดีเซล พอน้ำมันลง คุณก็ไม่ได้ปรับราคาลงให้ ทุกวันนี้สำคัญที่สุด ทำงานแล้วทุกคน ควรมีเงินเหลือติดกระเป๋าไว้ในยามฉุกเฉินหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใช่ได้ค่าแรง ก็เอาไปจ่ายค่าอาหารค่าอะไรหมด มันไม่คุ้ม ทำงานเหนื่อยเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร"
เมื่อถามว่า เป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า ขอ ไม่แตะดีกว่า ขออยู่ตรงกลาง เพราะมาในนามขององค์การสภาลูกจ้าง แต่หากถามว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับพวกเราหรือไม่ "เกี่ยว" แต่ไม่อยากเข้าไปแตะ อยากให้อำนาจของไตรภาคีได้ขับเคลื่อนเต็มที่ ไปสู้กันในเวทีนั้นดีกว่า
ส่วนการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งที่แล้ว 20 ก.ย. มีภาครัฐไม่เข้าร่วม 4 คน ฝ่ายลูกจ้างไม่เข้าร่วม 2 คน นายแสงชัย ระบุว่า จะติดตามถึงกรณีที่เกิดขึ้นให้ แต่มองว่า ไม่มา ไม่ผิด เพราะคำว่า ไม่มา ถ้าครบองค์ประชุมก็สามารถที่จะเคลื่อนต่อไปได้ และการประชุมครั้งหน้ายืนยันฝ่ายลูกจ้างต้องเข้าอยู่แล้ว เพราะเราอยากปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งที่มาในวันนี้ทั้ง 3 สภานั้น มีแรงงานเกินหมื่นคน โดยเฉพาะสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เป็นสภาที่ขับเคลื่อน 1 ใน 5 GDP ของประเทศไทย เมื่อคุณไม่เคยดูแลลูกจ้างภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เลย GDP จะเติบโตได้อย่างไร ฝากให้รัฐบาลกลับไปคิด ซึ่งตนไม่ได้เป็นบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้าง แต่จะดันสุดตัว
เมื่อถามคิดจะเกิดการล็อบบี้ไม่ให้ฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมประชุมหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องจรรยาบรรณ เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่อาจก้าวล่วง แต่ถ้าล็อบบี้กันได้แสดงว่า คุณไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นตัวเอง