อนุฯปลาหมอคางดำ สอบพบสาเหตุระบาด เอกชนรายเดียวนำเข้า - ต้นตอแหล่งเดียวกัน
คณะอนุกรรมการ แถลงผลสอบ สาเหตุปลาหมอคางดำระบาด พบ DNA เดียวกับประเทศต้นทาง ที่เอกชนขอนำเข้า ปี 2553 จี้รัฐหาคนรับผิดชอบ
25 ก.ย. 2567 นายวาโย อัศวรุ่งเรือง และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะประธานและรองประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย แถลงผลตรวจสอบการระบาดของปลาหมอคางดำ
ขณะนี้มีข้อมูลระบาดไปแล้ว 79 อำเภอ 19 จังหวัด คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาค้นหาสาเหตุของปัญหา พบว่า ปรากฏเอกชนเพียงรายเดียวที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักร
โดยมีการขออนุญาตครั้งแรกเมื่อปี 2549 ได้รับอนุญาตแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการนำเข้าต่อมาปี 2551 บริษัทขออนุญาตต่อกรมประมงอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้นำเข้า จนกระทั่งปี 2553 บริษัทขออนุญาตต่อกรมประมง ครั้งนี้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัวจากสาธารณรัฐกานา โดยแจ้งว่าเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ณ ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
นอกจากนี้การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมีลักษณะเป็นหย่อมไม่เชื่อมกัน บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำ โดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าการแพร่กระจายไปตามเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล
ล่าสุดเมื่อ ส.ค. 2567 กรมประมงได้นำข้อมูลลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดใน 6 จังหวัด ซึ่งเก็บอยู่ในธนาคารพันธุกรรมหรือ DNA Bank ของกรมประมง ประกอบกับการสนับสนุนข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่างจาก 6 จังหวัด ที่มีรายงานการระบาดในช่วง พ.ศ. 2560-2564 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตัวอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมที่มาจากประเทศกานาและโกตดิวัวร์
คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า รัฐควรดำเนินการสอบหาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 โดยหน่วยงานของรัฐที่ควรเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ