ไขข้อสงสัย น้ำท่วมแม่สาย ดินโคลนมาจากไหน เปิดภาพดาวเทียมพื้นที่ดินถล่ม
GISTDA ไขข้อสงสัย น้ำท่วมแม่สาย ดินโคลนจำนวนมาก มาจากไหน พร้อมเปิดภาพดาวเทียมภูมิประเทศ แม่สาย จ.เชียงราย และพื้นที่ ดินถล่ม
GISTDA เปิดเผย ภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน ว่า ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ดินตามภูเขาค่อยๆ สะสมน้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั้งวันที่ 8 ก.ย. 2567 เกิด ฝนตกหนัก ติดต่อกันต่อเนื่องเหนือพื้นที่รับน้ำของ แม่น้ำสาย และ แม่น้ำกก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย
โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย ที่ก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองแล้ว 6 ครั้งในปี 2567 และครั้งล่าสุดช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มี น้ำป่าไหลทะลัก ลงตาม แม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือนร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ชาวบ้านบางพื้นที่ยังเข้าบ้านไม่ได้เพราะปัญหาตะกอนดินโคลนทับทมจำนวนมากที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้
มีรายงานว่าน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีทั้งเศษไม้ ขอนไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย แต่ทว่าเมื่อน้ำลดลงปรากฏตะกอนโคลนและดินเป็นจำนวนมากตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน ใกล้กับแม่น้ำสายโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บริเวณเชิงเขา ที่บางจุดมีดินโคลนทับถมสูงกว่า 2 เมตร
ภูมิประเทศของเมืองแม่สาย
หากพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ ตัวเมืองแม่สายตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาและติดกับแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขา ในขณะเดียวกันการศึกษาด้านธรณีวิทยาพบว่าพื้นที่บริเวณตัวเมืองเเม่สาย โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำสายที่ใกล้กับด่านชายแดนไทย-เมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนไหลทับถมสะสมมาตั้งแต่อดีต
ด้วยที่ตั้งของเมืองและลักษณะภูมิประเทศทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย มีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ โดยแม่น้ำสายทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณ 80% และอีก 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก
ในสภาวะปกติลักษณภูมิประเทศแบบนี้มักจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ ด้วยแร่ธาตุต่างๆที่ปะปนมากับตะกอนในแม่น้ำ แต่ทว่าบริบทการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก การสำรวจโดยนักวิชาการไทยพบว่าปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สายได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย
เปิดหลักฐานบนภาพดาวเทียม
หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วย ภาพถ่ายดาวเทียม รายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขต อ.แม่สาย ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของ แม่น้ำสาย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรอย่างเห็นได้ชัด
แต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 - 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง
ถอดบทเรียน
ทุกๆ ความสูญเสียมักก่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำไปปรับใช้ ต่อยอดสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศยังทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แม่สาย และในอดีตก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นการตระหนักรับรู้ความเสี่ยงในพื้นที่ของตนและปรับตัวตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้
ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมใน จ.เชียงราย ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถูกแทนที่ด้วยภาพแห่งความร่วมมือและน้ำใจจากทั่วทุกสารทิศกำลังไหลมาแทนที่ เพื่อส่งต่อกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่นๆ ทางทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ฟื้นคืนกลับมาได้โดยเร็ว
ข้อมูล : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)