ข่าว

1 ตุลาคม  เปิดที่มาวันกาแฟสากล พร้อมไขข้อสงสัยสายพันธุ์ไหนเยอะสุดในไทย

1 ตุลาคม เปิดที่มาวันกาแฟสากล พร้อมไขข้อสงสัยสายพันธุ์ไหนเยอะสุดในไทย

30 ก.ย. 2567

1 ตุลาคม เปิดที่มาวันกาแฟสากล (International Coffee Day) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร? พร้อมไขข้อสงสัยสายพันธุ์ไหนเยอะสุดในไทย

1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันกาแฟสากล (International Coffee Day)

 

จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ได้รับการอนุมัติจากองค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization : ICO) วันกาแฟสากลนี้ยังใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้ากาแฟที่เป็นธรรม และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความทุกข์ยากของผู้ปลูกกาแฟ

การค้นพบกาแฟครั้งแรก

 

เกิดขึ้นในป่าของประเทศเอธิโอเปีย เมื่อศตวรรษที่ 9 จากนั้นกาแฟแพร่กระจายเข้าสู่ดินแดนฝั่งเยเมน อาหรับ ตุรกี และยุโรป ก่อนจะแพร่กระจายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและเมนูยอดฮิต ยอดนิยมตลอดกาลของนานาอารยประเทศ

 

 

"กาแฟ" เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จากต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า "เมล็ดกาแฟคั่ว" ต้นกาแฟมีการเพาะปลูกในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก เป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกมีส่วนประกอบของ"คาเฟอีน"ทำให้มีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์

 

 

กาแฟในประเทศไทยสายพันธุ์ไหนเยอะที่สุด

การดื่มกาแฟ กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายคน ตั้งแต่การเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการชงกาแฟแก้วโปรดสักแก้ว สร้างโมเม้นท์ดีๆ ในการเริ่มต้นวัน และเชื่อมทุกความผูกพันกับเพื่อนๆ และคนใกล้ตัว ทุกช่วงเวลาตลอดวันอีกด้วย จึงไม่แปลกที่กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากคนไทยมากที่สุดรองจากน้ำเปล่า จากการสำรวจผู้บริโภครอบล่าสุดพบว่า 2 ใน 3 ของประชากรไทยนิยมดื่มกาแฟ จากการสำรวจพบว่า คนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 586 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งแปลว่าคนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ยมากกว่า 1 แก้วต่อคนต่อวัน

 

 

ในประเทศไทย มีการผลิตกาแฟ 2 สายพันธุ์ คือ

  • สายพันธุ์โรบัสต้า (Robusta coffee) เพาะปลูกมากแถบจังหวัดในภาคใต้ อาทิ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช คิดเป็นปริมาณประมาณปีละ 80,000 ตัน
  • สายพันธุ์อาราบิก้า (Arabica coffee) เพาะปลูกมากในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลและอากาศเย็น ซึ่งคิดเป็นปริมาณประมาณ 500 ตันต่อปี

 

 

ที่มา : bangkokbiznews,posttoday