ข่าว

"สุริยะ" ประชุมเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน ตั้ง คกก. เช็กสภาพรถบัสทั่วประเทศ

"สุริยะ" ประชุมเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน ตั้ง คกก. เช็กสภาพรถบัสทั่วประเทศ

02 ต.ค. 2567

"สุริยะ" ตั้ง คกก. ตรวจสภาพรถบัสทั่วประเทศ จ่อยกเลิกรถ 2 ชั้นวิ่งข้ามจังหวัด ผุดไอเดียเครื่องบินโมเดล มีจนท.สาธิต-แนะช่องทางหนีไฟ มั่นใจบริษัทประกันภัยเยียวยาเหยื่อนรถบัสมรณะตามเกณฑ์ วงเงิน 20 ล้าน

2 ต.ค. 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเหตุเพลิงไหม้ 

 

นายสุริยะ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้น่าสะเทือนใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย รู้สึกเศร้าสลดจากเหตุการณ์ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็จะไปดูแล 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและจะมีการป้องกันอย่างไร โดยจะเชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาร่วมตรวจสอบโครงสร้างของรถที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนเท่านี้ ควรจะปรับปรุงอย่างไร รวมถึงทางออกฉุกเฉิน 

 

ซึ่งมีไอเดียจะให้เจ้าหน้าที่บนรถให้คำแนะนำก่อนออกออกเดินทางว่า หากมีเหตุฉุกเฉินจะปฏิบัติตัวอย่างไรและแนะนำช่องทางออกฉุกเฉิน เหมือนกับเครื่องบิน โดยต่อไปนี้กระทรวงจะมีมาตรการออกมา บังคับให้รถโดยสารสาธารณะดำเนินการตามนี้เพื่อลดความรุนแรงลง 

ประชุมเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน

ส่วนเรื่องของรถสูง 2 ชั้น ที่มีการพูดมานานแล้วว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ควรยกเลิกใช้งานหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับรถ 2 ชั้น ทางกระทรวงมีแนวทางอยู่แล้ว กำลังพิจารณาว่าจะให้รถ 2 ชั้นวิ่งในเขตเมือง ห้ามออกต่างจังหวัด ซึ่งเหตุการณ์วานนี้เป็นรถชั้นเดียว ก็ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคต โดยแนวทางป้องกันจะมีทั้งมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยาว 

 

ส่วนรถบัสที่เกิดเหตุมีการดัดแปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์ และตัวถังประกอบซึ่งใช้มานานกว่า 50 ปี ต้องมีการตรวจสอบรถบัสโดยสารทั้งประเทศหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่สภาพรถ จำนวนผู้โดยสาร และจะครอบคลุมรถทุกประเภท ทั้งรถตู้ รถโดยสาร นอกจากนี้จะตรวจสอบเรื่องการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นแก๊สในรถสาธารณะ เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุมักมีความรุนแรง โดยคาดว่าคณะกรรมการจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

ส่วนการดัดแปลงรถ อาจจะทำให้บริษัทประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยสินไหมนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบกว่า ตามกฎหมายต้องบังคับให้มีการประกันภัยขั้นต่ำ จะจ่ายสูงสุด 5 แสนบาท และ พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ อีก 5 แสนบาท รวมทั้งหมด 20 ล้านบาทต่อการเกิดอุบัติเหตุหนึ่งครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต 23 ราย เฉลี่ยแล้วเบื้องต้นจะได้คนละ 8.6 แสนบาท และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริษัทประกันภัยจะไม่มาหาสาเหตุที่จะไม่จ่ายค่าประกันภัย เพราะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ นอกจากนี้ยังมีเงินเยียวยาจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีการประชุมวันนี้ด้วย

 

จากนั้นนายสุริยะ กำชับในที่ประชุม ต้องมีการวางมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดลักษณะแบบนี้ขึ้นอีก ทุกภาคส่วนต้องพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ การประชุมในวันนี้จะมุ่งเน้นหารือถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ยังต้องมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ หวังว่าจะสามารถบรรเทาความทุกข์ยากได้อย่างทันท่วงที พร้อมวิงวอนระมัดระวังการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้กระทบต่อจิตใจผู้ที่เกี่ยวข้อง 

 

ขณะที่ นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดรับบริจาค ทรัพย์สินหรือสิ่งของ ความสำหรับผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน คือ นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานฯ คือนายสุริยะ และประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่างๆ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้จ่ายเงินกองทุน ซึ่งในระเบียบกำหนดว่าเงินกองทุนจะนำไปใช้ได้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยเท่

านั้น