"ดาวหางแอตลัส" ดาวหาง ดวงใหม่ล่าสุด สว่างกว่า ดาวศุกร์ ช่วงที่สว่างที่สุด
เปิดข้อมูล การค้นพบ "ดาวหางแอตลัส" ดาวหาง ดวงใหม่ล่าสุด ความสว่างกว่า ดาวศุกร์ ช่วงที่สว่างที่สุด ลุ้นชมปลายเดือนตุลาคม
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลค้นพบ ดาวหาง ใหม่ล่าสุด C/2024 S1 (ATLAS) หรือ ดาวหางแอตลัส จัดเป็นดาวหางในกลุ่ม Kreutz sungrazer ดังเช่นดาวหาง Ikeya-Seki ที่เคยปรากฏสว่างจนมองเห็นบนท้องฟ้ายามกลางวันเมื่อปี พ.ศ. 2508
"ดาวหางแอตลัส" หรือ C/2024 S1 (ATLAS) หรือชื่อเดิม A11bP7I ค้นพบเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2024 ที่ผ่านมา ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ณ หมู่เกาะฮาวาย จากการคำนวณเบื้องต้นชี้ว่า ดาวหางดวงนี้กำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และมีทิศทางการเคลื่อนที่สอดคล้องกับดาวหางกลุ่ม "Kreutz sungrazer" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และเป็นกลุ่มเดียวกับ ดาวหาง อันโด่งดัง ได้แก่ Lovejoy และ Ikeya-Seki จึงมีโอกาสสูงมากที่ดาวหางจะเพิ่มความสว่างมากกว่านี้หลายเท่าตัว
ดาวหาง กลุ่ม "Kreutz sungrazer" เป็นกลุ่มของดาวหางที่มีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งดาวหางบางดวงอาจเฉียดเข้าใกล้เพียงไม่กี่ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ช่วงที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดก็จะมีระยะห่างออกนับร้อยเท่าของระยะห่างโลก-ดวงอาทิตย์ ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหางกลุ่มนี้มีต้นกำเนิดมาจากดาวหางขนาดใหญ่ดวงเดียว แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ดาวหางแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ และยังคงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป จึงเกิดเป็นดาวหางกลุ่มนี้ขึ้น
ดาวหาง ในกลุ่ม Kreutz sungrazer มีสมาชิกขนาดเล็กประมาณ 4,000 ดวง มีจำนวนหนึ่งเมื่อเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วกลายเป็น "great comet" ที่ส่องสว่างโดดเด่นบนท้องฟ้า เช่น ดาวหาง C/2011 W3 (Lovejoy) ที่สว่างโดดเด่นปลายปี 2011 หรือบางดวงก็สว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลากลางวัน เช่น ดาวหาง C/1965 S1 (Ikeya–Seki) ที่มีบันทึกในปี 1965 ว่ามีค่าแมกนิจูดปรากฏที่สว่างมากถึง -10 ปรากฏบนท้องฟ้าตอนกลางวันเคียงคู่ดวงอาทิตย์
ความน่าสนใจของ ดาวหางแอตลัส ที่เพิ่งได้รับการค้นพบในครั้งนี้คือ มีค่าแมกนิจูดสัมบูรณ์สว่างมากกว่า ดาวหาง Lovejoy จึงมีการคาดการณ์ว่า ดาวหางแอตลัสอาจสว่างมากกว่าดาวหาง Lovejoy และอาจมีแมกนิจูดปรากฏในช่วงที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากถึง -4 ซึ่งสว่างมากกว่าดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุดในรอบปีเลยทีเดียว
ข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ ดาวหางแอตลัส มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวงูไฮดรา และมีความสว่างปรากฏล่าสุดอยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 13.1 คาดว่าจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 131 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่ระยะห่างประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เฉียดใกล้มาก ในช่วงเวลานี้เองที่ดาวหางจะปรากฏสว่างมาก และเราต้องมาลุ้นกันว่าดาวหางจะอยู่รอดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ต้นเดือนตุลาคมนี้เรายังมี ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ Comet C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ให้ติดตามชมกันอยู่ โดยจะปรากฏให้ชมในช่วงเช้ามืดถึงวันที่ 6 ต.ค. 2567 จากนั้นจะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ทำให้ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ และกลับมาชมได้อีกครั้งประมาณวันที่ 11 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป ก่อนจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกไป และในช่วงเวลานั้นเองที่ ดาวหางแอตลัส หรือ C/2024 S1 (ATLAS) จะมาให้เราลุ้นชมความสวยงามกันต่อ รอติดตามรายละเอียดการสังเกตการณ์ที่แน่นอนอีกครั้งในช่วงกลางเดือนนี้