ข่าว

ดวงอาทิตย์ ลุกจ้าครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่ปี 2017 ทิศทางหันมาทางโลก

05 ต.ค. 2567

NARIT เปิดข้อมูล ดวงอาทิตย์ ลุกจ้า 3 ต.ค. 2567 ครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่ปี 2017 ทิศทางหันมาทางโลก ทำให้เกิด "สภาวะสัญญาณขาดหายชั่วคราว"

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูล เกิดการลุกจ้าบน ดวงอาทิตย์ ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ในทิศทางหันมาทางโลก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2024 เวลา 19:10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เป็นการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ ระดับ X9.05 บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ฝั่งที่หันมายังโลก ทำให้เกิด "สภาวะสัญญาณขาดหายชั่วคราว" กับสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นในบริเวณทวีปแอฟริกาและยุโรป ซึ่งอยู่บนพื้นผิวโลกฝั่งที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ขณะเกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์

 

 

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (Solar flare) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครั้งใหญ่ในลักษณะของการปะทุจากพื้นผิวบริเวณที่มีจุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งประเภทตามตัวอักษร ตั้งแต่ระดับ A (อ่อนสุด), B, C, M และ X (รุนแรงสุด) โดยตัวเลข 1 ถึง 10 ข้างหลังตัวอักษรบ่งชี้ถึงความรุนแรงเช่นกัน เช่น การลุกจ้าระดับ X1 จะเบากว่าระดับ X9 นอกจากนี้ การลุกจ้าระดับที่ลงท้ายด้วยเลขตัวเดียวกัน แต่ตัวอักษรบอกระดับอยู่ติดกัน จะมีความรุนแรงต่างกัน 10 เท่า เช่น การลุกจ้าระดับ X1 รุนแรงกว่าระดับ M1 อยู่ 10 เท่า

 

การลุกจ้าครั้งนี้ ปะทุจากกลุ่มจุดบนดวงอาทิตย์ AR3842 (AR ย่อมาจาก Active Region) ซึ่งกลุ่มจุดหย่อมนี้เคยมีการลุกจ้าขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ระดับ X7.1 ร่วมกับการพ่นมวลโคโรนา (CME) ซึ่งเป็นการพ่นมวลอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้ากลุ่มใหญ่ออกจากดวงอาทิตย์ แต่ CME ในครั้งนี้ได้มุ่งหน้ามายังโลก และจะมาถึงโลกในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 5 ตุลาคม เกิดเป็น "พายุแม่เหล็กโลก" (Geomagnetic storm) ที่เกิดจากสนามแม่เหล็กโลกถูกรบกวนจากคลื่นกระแทกของกลุ่มอนุภาคมีประจุไฟฟ้าจำนวนมากจากดวงอาทิตย์ (ลมสุริยะและ CME)

 

 

NARIT

 

ระหว่างที่เกิด พายุแม่เหล็กโลก อนุภาคมีประจุเหล่านี้จะเกิดอันตรกิริยากับอนุภาคแก๊สในบรรยากาศของโลก จนอนุภาคแก๊สปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง ในช่วงดังกล่าวจึงอาจเกิดแสงเหนือ-แสงใต้ (ออโรรา) ที่สว่างและกระจายตัวเป็นวงกว้าง

 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เองก็ต้องรอและติดตามผลที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะ "สภาพอวกาศ" (Space Weather : สภาพแวดล้อมทางแม่เหล็กไฟฟ้าในห้วงอวกาศ) เป็นสิ่งที่แปรปรวนและทำนายไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้ว่าจะเกิดขึ้นตามมาไม่นานจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ครั้งใหญ่ในระดับ X คือ สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว (Radio blackout)

 

สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นที่ขาดหายชั่วคราว ซึ่งเกิดในแถบยุโรป-แอฟริกาในต้นเดือนนี้ เป็นผลจากรังสีที่แผ่จากมาการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ที่เดินทางมาถึงโลก และทำให้อนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลกมีประจุไฟฟ้า อนุภาคแก๊สมีประจุส่วนนี้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นที่ใช้สื่อสารคมนาคมเดินทางผ่านได้ยากขึ้น เพราะเมื่อคลื่นวิทยุเดินทางผ่านชั้นอนุภาคแก๊สมีประจุไฟฟ้า จะเสียพลังงานจากการชนกับอิเล็กตรอนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนสัญญาณคลื่นวิทยุอ่อนลงหรือถูกดูดกลืนไปทั้งหมด

 

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะรอบปัจจุบัน (วัฏจักรสุริยะรอบ 25) ครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา เกิดขึ้นในวัฏจักรสุริยะรอบก่อนหน้า (วัฏจักรสุริยะรอบ 24) เมื่อในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 เกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์รุนแรงถึงระดับ X13.3 และ X11.8 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของวัฏจักร ทั้งนี้ กิจกรรมทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ เช่น จุดบนดวงอาทิตย์ การปะทุต่างๆ จะเกิดขึ้นมากน้อยสลับวนกันเป็นวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) ครบรอบทุกๆ ประมาณ 11 ปี

 

 

ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ้างอิง : www.space.com