ล้นตลิ่งเกือบ 2 เมตร สถานการณ์แม่น้ำปิงวิกฤตขั้นสุด สำนักงานชลประทานที่ 1 ประกาศเตือน
ล้นตลิ่งเกือบ 2 เมตร แม่น้ำปิงเกินวิกฤตชั้นสุด สำนักงานชลประทานที่ 1 ออกประกาศ แจ้งเตือน15 อำเภอ รวมลำพูน เตรียมอพยพ รับน้ำก้อนใหญ่
5 ต.ค. 2567 สำนักงานชลประทานที่ 1 ออกประกาศ ฉบับที่ 20/2567 เรื่อง แจ้งเตือนระดับน้ำวิกฤติแม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยในช่วงวันที่ 1-4 ตุลาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ มีอากาศแปรปรวน
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอิทธิพลจากลักษณะอากาศดังกล่าว ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วทั้งจังหวัดในเกณฑ์หนักถึงหนักมาก
ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนมีปริมาณพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น.
- สถานี P.1 แม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.28 เมตร (สูงกว่า ระดับตลิ่ง 1.85 เมตร) และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคันป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ รองรับน้ำหลากระดับ +4.20 เมตร) ประมาณ 1.08 เมตร มีปริมาณน้ำ 652.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำทรงตัว
- สถานี P.67 แม่น้ำปิงที่บ้านแม่แต อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.60 เมตร (สูงกว่า ระดับตลิ่ง 1.80 เมตร) ปริมาณน้ำ 807.20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ผ่านจุดระดับน้ำสูงสุดที่ +5.98 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.18 เมตร) ปริมาณน้ำสูงสุด 860.40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำลดลง
- สถานี P.21 (น้ำแม่ริม) ระดับน้ำ +4.61 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.81 เมตร) ปริมาณน้ำ 69.77 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านจุดระดับน้ำสูงสุดที่ +5.21 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.41 เมตร) ปริมาณน้ำสูงสุด 82.67 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 20.00 น. อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณ น้ำลดลง
- ฝายแม่แตง (น้ำแม่แตง) อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำผ่านฝาย 261.08 ลูกบาศก์ เมตรต่อวินาที โดยมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านฝาย 732.65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ฝายสินธุกิจปรีชา (ฝายแม่แฝก) แม่น้ำปิงที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำไหลผ่าน ฝาย 357.880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผ่าน จุดสูงสุดที่ระดับ +5.28 เมตร เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.58 เมตร)
และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคัน ป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่รองรับน้ำหลากระดับ +4.20 เมตร) ประมาณ 1.08 เมตร ปริมาณน้ำ 652 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา โดยจะมีระดับน้ำทรงตัวระยะหนึ่ง และเริ่มลดระดับลง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนยังมีการเคลื่อนตัวของมวลน้ำใหญ่ก้อนสุดท้ายจากแม่น้ำปิง ตอนบน (อำเภอเชียงดาว) ที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา (ปริมาณน้ำสูงสุด 459.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)
สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดหมายว่ามวลน้ำในแม่น้ำปิงจากอำเภอเชียงดาว จะไหลผ่านที่สถานี P.1 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 01.00-02.00 น.
โดยมวลน้ำดังกล่าวจะทำให้ ปริมาณน้ำที่สถานี P.1 อยู่ที่ระดับประมาณ +5.10 เมตร หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ และหลังจากนั้นระดับน้ำที่สถานี P.1 จะทรงตัวระยะหนึ่ง แล้วจะค่อยๆ ลดระดับลงจนอยู่ในสภาพการไหลปกติในทางน้ำภายใน 5 วัน
จากการคาดหมายสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงข้างต้น ขอแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบอุทกภัย จากน้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง ดังนี้
1. พื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวแม่น้ำปิง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด และในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง และอำเภอบ้านโฮ่ง
2. พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในพื้นที่เสี่ยงทุกโซน (โซนที่ 1-7) รวมถึงพื้นที่ตอนล่างที่มี บริเวณติดต่อกับพื้นที่โซนที่ 7 (พื้นที่ในเขตอำเภอสารภี ที่เคยเกิดอุทกภัยในช่วงวันที่ 26-28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
- ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและ เสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
- เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทา ผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
- ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำแนว เขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบ ล่วงหน้า
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ทราบ อย่างต่อเนื่อง