"นายกฯแพทองธาร" เผย เยียวยาผู้ประสบภัยเหมาจ่าย 9,000 วงเงิน 3,045 ล้าน
"นายกฯแพทองธาร" เผย ครม. เยียวยาผู้ประสบภัยเหมาจ่ายบ้านละ 9,000 วงเงิน 3,045 ล้าน ขณะที่น้ำท่วมเชียงใหม่เชียงราย คาด 4-5 วัน กลับสู่ปกติ ส่วนลำปางลำพูนรับน้ำต่อ ขอสบายใจ ส่งทหารเตรียมพร้อมแล้ว
8 ต.ค. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาการเสนอหลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นการช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้วงเงินเดิมตามมติ ครม. 17 ก.ย. 2567 จำนวน 3,045 ล้านบาท
ขณะที่วันนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รายงานเรื่องของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้าที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยได้รับรายงานว่าทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่รับผิดชอบก็จะสำเร็จไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ รวมถึงพื้นที่แม่สายด้วย ส่วนบางครัวเรือนขณะนี้จ่ายไปแล้ว 5,000 บาท จะทยอยจ่ายอย่างต่อเนื่องให้ครบ 9,000 บาท
ขณะที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ปางช้าง กำลังพลทหารได้เคลื่อนย้ายช้าง 2 เชือกที่เสียชีวิตออกจากพื้นที่แล้ว รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์อื่นๆไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยได้มีการเตรียมอาหารและเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เริ่มลดลงแล้ว คาดว่าใน 4-5 วัน ข้างหน้าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนลำปางและลำพูนที่จะได้รับมวลน้ำต่อจากเชียงใหม่ น.ส.แพทองธาร คาดว่า จะไม่เยอะ มวลน้ำจะเคลื่อนตัวไปที่เขื่อนภูมิพลและแม่น้ำโขง ซึ่งน้ำก็จะท่วม แต่คาดว่าจะไม่เยอะ โดยส่งกำลังพลเข้าไปเตรียมพร้อมดูแลไว้แล้ว จึงขอให้ชาวลำปางลำพูนสบายใจ
ส่วนกรุงเทพมหานครเคยแจ้งไปแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54 และตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้เยอะ เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการพูดคุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ตลอด รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำก็จะไม่กระทบกับพื้นที่ของประชาชน เพราะมอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอดและขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในเรื่องอาหารและยานพาหนะต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชน
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ คอส. เพื่อติดตามความคืบหน้าและวางแผนป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบและพูดคุยเรื่องการวางแผนทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวในวันอังคารหน้า (15 ต.ค. 2567) ซึ่งจะให้คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
เมื่อถามว่า ปัญหาดินโคลนที่มีการเยียวยาแบบเหมาจ่ายแล้ว ยังมีแบบพิเศษเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้คือการเยียวยาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน แต่ว่าเคสพิเศษหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ที่เราสามารถช่วยเหลืออะไรได้ยังมีกรอบที่เคยขยายไปแล้วด้วย ก็ยังพออยู่ ซึ่งเดี๋ยวจะต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลอีก ต้องให้ภายในพื้นที่ช่วยกันอีกที