จับตา พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ แนวโน้มขึ้นถึงระดับ G5
NOAA จับตา พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ แนวโน้มขึ้นถึงระดับ G5 เปิดข้อมูล กระทบอะไรกับโลกบ้าง
สมาคมดาราศาสตร์ไทย โพสต์ข้อความเตือน พายุแม่เหล็กโลก ที่ตอนนี้มีแนวโน้มจะขึ้นถึงระดับ G4 และ G5 หลังจากที่ดวงอาทิตย์มีการปะทุแฟลร์รุนแรงระดับ X1.8 พร้อมพ่นมวลโคโรนาความเร็วสูงมายังโลก เมื่อวานนี้ (9 ต.ค. 2567) เวลา 8:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
โดยทาง NOAA ได้ออกมาเตือน ประกาศเฝ้าติดตาม พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีโอกาส 25% ที่จะทวีความรุนแรงสู่ระดับสุดขั้ว G5
โดย "อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้มาคอมเมนต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
(จากโพสต์สมาคมฯ) "ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ที่มีผลมาถึงโลก คือ พายุแม่เหล็กโลก เกิดจากลมสุริยะที่มีความรุนแรงปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้การปะทะนี้จะเกิดขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเทคโนโลยีอวกาศ เช่นดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือการสื่อสารวิทยุ ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์มีไม่มากนัก"
พายุแม่เหล็กโลก เกิดจาก ลมสุริยะ ที่มีความรุนแรงปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้การปะทะนี้จะเกิดขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเทคโนโลยีอวกาศ เช่นดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือการสื่อสารวิทยุ ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์มีไม่มากนัก
มีระดับความรุนแรง 5 ระดับ คือ
G5 รุนแรงที่สุด
ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าและระบบป้องกันเสียหายทั่ว ระบบสายส่งไฟฟ้าอาจล่มหรือดับถาวร หม้อแปลงไฟฟ้าอาจเสียหาย ยานอวกาศมีปัญหาจากประจุเข้มข้นที่สะสมที่ผิวยาน มีปัญหาด้านการสื่อสารและการควบคุมทิศ กระแสไฟฟ้าในท่อส่งน้ำอาจสูงหลายร้อยแอมแปร์ การกระจายสัญญาณความถี่สูงล้มเหลว เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 40 องศา
G4 รุนแรงมาก
ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง ยานอวกาศอาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิวและอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา การกระจายสัญญาณความถี่สูงขัดข้องเป็นระยะ
G3 รุนแรงปานกลาง
แรงดันไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้าผิดปรกติ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบปรับแรงดัน อาจเกิดการสะสมประจุในชิ้นส่วนของดาวเทียมและอาจเกิดความผิดพลาดกับระบบควบคุมทิศทาง มีปัญหากับระบบกระจายสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำเป็นระยะ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามลงไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 50 องศา
G2 ปานกลาง
ระบบสายส่งไฟฟ้าที่ละติจูดสูงๆ อาจเกิดความผิดปรกติของแรงดัน หากเกิดเป็นเวลานานอาจทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าเสียหาย การควบคุมทิศทางของดาวเทียมอาจเกิดความผิดปรกติแต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบรักษาทิศทาง และอาจทำให้วงโคจรเปลี่ยนแปลง สัญญาณความถี่สูงที่ละติจูดสูงอาจอ่อนกำลัง เกิดแสงเหนือใต้ลามมาถึงระดับ 55 องศา
G1 น้อย
เกิดความผันผวนของแรงดันในระบบส่งกำลังไฟฟ้าเล็กน้อย สัตว์ที่อพยพโดยใช้สนามแม่เหล็กในการกำหนดทิศอาจสับสน เกิดแสงเหนือใต้ที่ละติจูดสูง
ข้อมูล : สมาคมดาราศาสตร์ไทย