ข่าว

กทม.วางแผนรับน้ำเหนือ - น้ำหนุน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมแจงข่าวปลอม

กทม.วางแผนรับน้ำเหนือ - น้ำหนุน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมแจงข่าวปลอม

10 ต.ค. 2567

กทม.เตรียมพร้อมวางแผนรับน้ำเหนือ - น้ำหนุน พร่องน้ำรับน้ำฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม ลอกคลองแล้วเสร็จ 100 % พร้อมชี้แจงข่าวปลอมว่อนโซเชียล

10 ต.ค. 2567 ที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด กทม. นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ แถลงข่าว การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ - น้ำหนุนของกรุงเทพมหานคร โดย กทม.ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน ทั้งการตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม และเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

ส่วนมาตรการรับสถานการณ์น้ำฝน ได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่

เตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ของ กทม. จากด้านใต้ถึงด้านเหนือ มีระดับสูง +2.8 ถึง 3.5 ม.รทก. แนวริมแม่น้ำ 88 กม. เป็นแนวป้องกันของ กทม. 80 กม. แนวฟันหลอ 4.35 กม.(32 แห่ง) แนวของเอกชนและหน่วยงานอื่น 3.65 กม. (12 แห่ง)

 

สำหรับแนวฟันหลอ 32 แห่ง ได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ 14 แห่ง เช่น สะพานปลา ชุมชนวังหลังฯลฯ กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง เช่น วัดเทพนารี ฯลฯ (รวมความยาวที่แก้ไขได้ 2 กม.) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 แห่ง

 

ส่วนแนวป้องกันของ กทม.ที่รั่วซึม 76 แห่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 แห่ง

 

ส่วนจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุนบริเวณช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ รวมถึงบริเวณที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยมาตรการชั่วคราวโดยการเรียงกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

 

ขณะที่มาตรการรับสถานการณ์น้ำฝน ได้ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน โดยควบคุมระดับน้ำในคลองแก้มลิง และ Water Bank เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกคลองและเปิดทางน้ำไหลกว่า 2,000 กม. แล้วเสร็จ 100%  และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำชนิดต่าง ๆ และหน่วย Best

 

นายเจษฎา กล่าวเสริมว่า ตามที่มี การเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่ากรุงเทพมหานคร จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กรุงเทพมหานครขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง

 

สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

เตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม