ข่าว

รอบสุดท้าย ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส บนท้องฟ้าไทย หมดครั้งนี้ ไม่มีอีกแล้ว

รอบสุดท้าย ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส บนท้องฟ้าไทย หมดครั้งนี้ ไม่มีอีกแล้ว

12 ต.ค. 2567

รอบสุดท้าย ชวนชม "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" บนท้องฟ้าไทย หมดครั้งนี้ ไม่มีอีกแล้ว ดูได้ทางทิศไหน เริ่มเวลาใด วันไหนเห็นได้ชัดที่สุด

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความชวนติดตาม "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" จะกลับมาปรากฏเหนือฟ้าเมืองไทยอีกครั้ง ในช่วงหัวค่ำวันนี้ (11 ต.ค. 2567) โดยสังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คาดสว่างจนมองเห็นด้วยตาเปล่า

 

 

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) จะกลับมาปรากฏให้ชมในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป สังเกตได้ทางทิศตะวันตก ทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท บริเวณทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก) นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าดาวหางจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏถึงประมาณ -4 (ตัวเลขน้อยสว่างมาก ตัวเลขมากสว่างน้อย) จึงอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในสภาพท้องฟ้ามืดสนิท ปราศจากมลภาวะทางแสง

 

โดยจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 18:35 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นในวันถัดๆ ไปจะสังเกตการณ์ได้นานขึ้น

 

สำหรับวันที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ที่สุด คือวันที่ 13 ต.ค. 2567 เนื่องจากดาวหางจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ปรากฏสว่าง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชิดขอบฟ้าจนเกินไป ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์พอสมควร และด้วยค่าอันดับสว่างปรากฏที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่าในวันที่ 13 ต.ค. ดาวหาง มีโอกาสที่จะปรากฏสว่างบนท้องฟ้าใกล้เคียงกับความสว่างของดาวศุกร์ได้

 

 

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส

 

เทคนิคหาตำแหน่ง ดาวหาง เมื่อทราบตำแหน่งคร่าวๆ แล้ว ให้สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจางๆ หรือดาวดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาสังเกตการณ์จะช่วยยืนยันลักษณะ และเห็นดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากบันทึกภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนานๆ จะถ่ายติดหางที่ยาวออกมา สำหรับภาพดาวหางขนาดใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นในข่าวต่างๆ ล้วนแต่เป็นภาพถ่าย หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

 

ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ค้นพบครั้งแรกช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ดาวหางได้โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และรอดพ้นจากการแตกสลายมาได้ และกำลังโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 13 ต.ค. 2567 ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อยๆ และจะไม่กลับมาอีก