ชวน หลีกภัย ร้อง! 13 ปี สร้างอาคาร รพ. ตรัง ยังไม่เสร็จ รมว.สธ. สั่งติดตามเรื่อง
"ชวน หลีกภัย" ส่งหนังสือร้องเรียนผู้รับเหมาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้ป่วย รพ.ตรัง 13 ปีสร้างยังไม่เสร็จ รมว.สธ. สั่งติดตาม พบบริษัททิ้งงาน 3 ครั้ง กำลังทำสัญญาครั้งที่ 4 คาดเสร็จปี 69 กำชับทุกฝ่ายควบคุมสร้างให้เสร็จตามกำหนด อย่าปล่อยยืดเยื้อเหมือนอดีต
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือขอให้ติดตามและแก้ไขปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานโครงการก่อสร้างอาคารอำนวยการผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลตรัง จากนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในหนังสือระบุว่า โรงพยาบาลจังหวัดตรัง มีโครงการก่อสร้างอาคารอำนวยการ ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นอาคาร คสล. 7 ชั้น ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554
แต่ปรากฏว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างขาดความรับผิดชอบ ทิ้งงาน มีปัญหายืดเยื้อ ทำให้โครงการหยุดชะงักลงเป็นเวลานานหลายปี รวมถึงอุปกรณ์ที่ประกอบอาคารที่งานเสร็จแล้วก็เกิดทรุดโทรมเสียหาย จึงขอให้ รมว.สาธารณสุข ช่วยติดตามเรื่องนี้
ที่มาปัญหาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยล่าช้า
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า เรื่องนี้ ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่ม จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ตนจึงได้ติดตามเรื่องนี้ เป็นการเร่งด่วน ซึ่งพบว่า การก่อสร้างอาคารดังกล่าว เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2555 จากงบประมาณปี 2554 - 2556 จำนวน 421 ล้านบาท โดยบริษัทที่เข้ามารับก่อสร้างชื่อ บ.เจมิไนย์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผนที่นำมาเสนอ ซึ่งตลอดระยะเวลาในสัญญา ถึงวันที่ 11 พ.ค.2558 ส่งงานได้แค่ 1 งวดเท่านั้น จึงถูกยกเลิกสัญญาไป
ต่อมา มีการทำสัญญาครั้งที่ 2 ให้บริษัท ทศพร เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด มาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2559 แต่ส่งงานได้ 6 งวด หลังจากนั้น ไม่สามารถก่อสร้างต่อได้ตามแผน จึงถูกยกเลิกสัญญาไปในวันที่ 19 ธ.ค.2562 ทำให้มีการทำสัญญาครั้งที่ 3 กับบริษัท กิจการร่วมค้า เอสที-แมกซ์เอนส์-ทีดับ บิว เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2563 แต่ก็ก่อสร้างส่งงานได้ 7 งวด และหลังจากนั้น ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน จึงถูกยกเลิกสัญญาในวันที่ 31 ส.ค.2566 และขณะนี้ อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้างก่อสร้างส่วนที่เหลือ โดยได้งบประมาณปี 2567 จำนวน 45.8 ล้านบาท และปี 2569 อีก 234.2 ล้านบาท รวม 280 ล้านบาท
กำชับก่อสร้างให้เสร็จปี 69
“จากการตรวจสอบพบว่า การก่อสร้างอาคารฯ สัญญาทั้ง 3 ครั้ง ที่ต้องถูกยกเลิก เกิดจากที่ผู้รับเหมาทำงานส่งไม่ได้ตามที่กำหนดในสัญญา ซึ่งเป็นการก่อสร้างล่าช้าโดยเรื่องนี้ ผมได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ผู้รับเหมามีปัญหาเหมือน 3 สัญญาที่ผ่านมา ซึ่งสัญญาครั้งที่ 4 จำนวน 10 งวดงาน ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนเผยแพร่ประกาศประกวดราคาจ้าง คาดว่า จะสามารถเสนอราคาได้วันที่ 25 ต.ค.2567 และคาดการณ์ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 โดยผมขอเน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันติดตามให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพี่น้องประชาชน” รมว.สาธารณสุข กล่าว