เปิดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม เตรียมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
เปิดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม เตรียมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เผย ครม.อนุมัติช่วยค่าล้างโคลน 10,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินเยียวยา
15 ต.ค. 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ หลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า จะมีค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท ค่าล้างโคลน 10,000 บาท ส่วนกระทรวงการคลังจะมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีได้รับเงินชดเชย ไม่ต้องมานำรวมเป็นรายได้ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ยกเว้นภาษีเงินได้
ขณะที่กรณีการบริจาคสิ่งของ ก็สามารถที่จะยกเว้นภาษีเงินได้ด้วย ด้านกรมธนารักษ์จะมีการยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้ประสบภัย 1 ปี ในกรณีที่เสียหายบางส่วน รวมถึงยกเว้นค่าเช่า 2 ปี กรณีเสียหายทั้งหลัง
ส่วนเกษตรกร กรมธนารักษ์ก็จะยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การผู้ประสบภัยที่กระทบต่อธุรกิจ และไม่สามารถมาเปิดธุรกิจได้ภายใน 3 วัน หรือเกิน 3 เดือน ก็จะมีการยกเว้นค่าเช่า แต่จะมีการพิจารณาเป็นรายเดือนไป
ขณะที่การช่วยเหลือจากธนาคารของรัฐ เช่น
- ธนาคารออมสิน จะมีการออกซอฟต์โลน หรือกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 50,000 ล้านบาท
- สำหรับเอสเอ็มอี ธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง ก็จะรับไปพิจารณาปล่อยกู้ต่อ โดยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท
- สำหรับกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะมีมาตรการพักต้นไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน พร้อมกันนี้ในส่วนของบัตรเครดิต จะมีการปรับลดอัตราชำระขั้นต้น ไม่เกินร้อยละ 3 ใน 3 รอบบัญชี
- สำหรับธนาคาร ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุด เป็นระยะเวลา 30 ปี สำหรับกลุ่มลูกหนี้ปกติ และไม่มีหนี้เสีย อีกทั้งมีสินเชื่อฉุกเฉินปรับสภาพคล่องไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และกู้ไม่เกิน 3 ปี โดยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0 ใน 6 เดือนแรก และยังปล่อยกู้ไม่เกิน 15 ปี ให้กับการซ่อมแซมบ้าน อุปกรณ์ การเกษตรไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
- ด้านธนาคาร ธ.อ.ส. มีมาตรการช่วยเหลือ ลดค่างวดไม่เกินร้อยละ 50 ลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ระยะเวลา 6 เดือน
- ขณะที่ลูกค้าเอ็นพีแอลถ้ามีหลักประกัน 1 ปี ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 หากเกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ1 รวมถึงมีสินเชื่อกู้ซ่อมบ้าน รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย3 เดือนแรกร้อยละ 0 ผ่อนชำระที่เหลือ ผ่อนชำระร้อยละ 2- 6 ส่วนธนาคารอิสลาม จะมีการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไรภายใน 6 เดือน
นายพิชัย ยังกล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการลงทุน ขณะนี้กำลังพิจารณาการออกระเบียบเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น มาตรการลกหย่อนภาษี สำหรับรายจ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง สามารถนำมาลดหย่อนภาษี ขยายเวลายื่นแบบชำระภาษี
ยกเว้นการนำเข้าเครื่องจักร มาทดแทนเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังจะมีการออกซอฟต์โลน สำหรับกลุ่มภาคท่องเที่ยวจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อเร่งการฟื้นฟูท่องเที่ยวให้กลับมา