เจ้าหน้าที่ อช.กุยบุรี ช่วยกระทิง เพศผู้ ขาติดบ่วงดักสัตว์ บาดเจ็บแผลเน่า
เจ้าหน้าที่ อช.กุยบุรี ช่วยกระทิง เพศผู้ ขาติดบ่วงดักสัตว์ บาดเจ็บแผลเน่า ล่าสุดลุกเดินได้แล้ว ปล่อยหากินตามธรรมชาติ
23 ต.ค. 2567 นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพลเมืองดี ว่าพบเห็นกระทิงบาดเจ็บ บริเวณบ้านกระทุ่น ม.5 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยในราชการทหาร ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระยะทาง 7 กม. ทราบว่าเป็นกระทิงเพศผู้ โตเต็มวัย อายุค่อนข้างมาก ร่างกายซูบผอม ได้รับบาดเจ็บที่ขา เดินขากะเผลก หากินตามลำพังอยู่บริเวณทุ่งหญ้า หมู่ที่ 5 บ้านกระทุ่น และพบเห็นกระทิงตัวดังกล่าวออกมาหากินบริเวณชายป่าในช่วงเช้าเป็นประจำ
ต่อมา 22 ต.ค. 2567 ทางอุทยานฯกุยบุรี นำโดย นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หน.อช.กุยบุรี ร่วมกับ นายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี สัตวบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ รวมถึงเวชภัณฑ์เพื่อเข้าทำการรักษา ได้นำกำลัง พร้อมอากาศยานไร้คนขับ เข้าพื้นที่ดังกล่าว ในการค้นหาตัวกระทิงดังกล่าวเพื่อประเมินอาการ แต่ไม่พบตัว จนกระทั่งเที่ยงวันเจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนแผนเดินเท้าปูพรมเพื่อติดตามตัวกระทิงได้รับบาดเจ็บ
จนกระทั่งเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่พบกระทิงตัวดังกล่าวอยู่ในร่องห้วย จึงได้วางแผนยิงยาซึม เพื่อเข้าทำการรักษา แต่เนื่องด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าทึบจึงไม่สามารถยิงยาซึมได้ จึงได้วางแผนหลอกล่อให้ออกมาอยู่แนวชายป่า ต่อมาเวลา 16.40 น. จนท.ได้ยิงยาซึมสำเร็จ จากนั้นได้เข้าทำการรักษา โดยอาการของกระทิงตัวดังกล่าวนั้น ข้อเท้าขาหน้าด้านขวาถูกบ่วงสลิงรัด จนเป็นแผลลึก มีลวดสลิงติดอยู่ภายในแผล
จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้คีมตัดเหล็กตัดลวดออก โดยทีมสัตวแพทย์ ได้ดำเนินการล้างแผล และใช้ผ้าก๊อซขัดเศษเนื้อตาย หนอง และเศษดินสิ่งสกปรก ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ป้ายยาเจลฆ่าเชื้อและผงฆ่าหนอนแมลงวัน ทำการพันแผลด้วยผ้าก๊อซ และเทปสำหรับพันแผล ให้สารน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู ฉีดยาปฏิชีวนะและยาบำรุง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าดูอาการก่อนฟื้น จนถึงเวลา 18.00 น. กระทิงสามารถลุกได้แล้ว จึงถอนกำลังออกมา ปล่อยให้กระทิงหากินตามธรรมชาติต่อไป