อย. แจงผลตรวจ "องุ่นไชน์มัสแคท" ยืนยัน เจอสารปนเเปื้อนจริง แต่ "กินได้"
อย. แจงผลตรวจ "องุ่นไชน์มัสแคท" ยืนยัน ผลการสุ่มตรวจเจอสารปนเเปื้อนจริง แม้ล้างออกไม่ได้ก็ยัง "กินได้" เพราะไม่เกินค่ามาตรฐาน
25 ต.ค. 2567 กรณี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคททั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผลสุ่มตรวจพบว่า 23 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด เช่น สารคลอร์ไพริฟอสว่า
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า มีการสื่อสารเป็นข่าวออกไปนั้น พบบางข่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสารปนเปื้อนที่พบในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท โดยทั้งหมด 24 ตัวอย่างที่ไทยแพนสุ่มตรวจนั้น มี 1 ตัวอย่าง ที่พบสารในกลุ่มวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ สารคลอร์ไพริฟอส เป็นสารที่ถูกแบนห้ามใช้ในประเทศแล้ว ส่วนอีก 23 ตัวอย่างนั้น พบว่ามีสารปนเปื้อนจริง โดยมีทั้งสารที่ถูกกำหนดในรายการเฝ้าระวังและไม่มีในรายการต้องเฝ้าระวังตามมาตรฐานสากล
"จากผลการสุ่มตรวจ พบสารปนเปื้อนถึง 50 รายการ แต่ข้อเท็จจริง คือ พบสารปนเปื้อนที่อยู่ในรายการต้องเฝ้าระวังในระดับสากล 36 รายการ ส่วนอีก 14 รายการเป็นสารปนเปื้อนที่ระดับสากลไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เกิน 0.01
นอกจากนั้นสารปนเปื้อน 36 รายการที่ตรวจพบนั้น อยู่ในค่าที่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หมายความว่า พบจริง แต่อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย เหมือนอย่างเช่นผลไม้อื่น ๆ ที่ผู้ผลิตจะผสมสารต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยากันรา ฉีดพ่นผลไม้ เพื่อยืดอายุให้นานขึ้น แต่เหล่านี้จะกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้" นพ.สุรโชค กล่าว
นอกจากนี้ นพ.สุรโชค ยังได้บอกอีกว่า กรณีที่ระบุว่าพบสารปนเปื้อนที่มีการดูดซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นไชน์มัสแคท แล้วล้างสารออกยาก ข้อเท็จจริงคือ สารบางชนิดเป็นสารที่ถูกใช้ในระหว่างการปลูก ทำให้ต้นไม้ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสารนั้นดูดซึมเข้าไปในผลไม้ ดังนั้นการล้างผลไม้ก่อนรับประทานตามวิธีที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทานได้
เมื่อถามย้ำว่าองุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายในตลาดสามารถซื้อมาทานได้หรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ยืนยันว่าสามารถทานได้ เนื่องจากสารปนเปื้อนที่ตรวจพบนั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย
เมื่อถามต่อว่ากรณีที่ไทยแพนระบุว่ามีองุ่นไชน์มัสแคท ที่ไม่สามารถระบุที่มาได้นั้น จะมีความปลอดภัยหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ อย.สุ่มตรวจตัวอย่างผลไม้ที่เข้ามาผ่านกองด่านอาหารและยา ซึ่งการนำเข้าหลักๆ จะมี 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยแรกเริ่มการนำเข้ามาจะมีบรรจุภัณฑ์ที่ระบุที่มาชัดเจน แต่เมื่อมีการแยกไปจำหน่ายแบบปลีกตามตลาดทั่วไป ผู้ค้าบางรายที่ไม่ได้ทำบรรจุภัณฑ์ ก็จะไม่สามารถบอกที่มาได้ แต่ถ้าเป็นห้างใหญ่ ๆ ที่ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ แล้วติดฉลากก็จะทราบที่มาได้