"โคราช" เตือนรับมือ “พายุจ่ามี" อาจทำฝนตกหนัก แจ้ง 32 อำเภอพร้อมรับมือ 24 ชม.
โคราชเตือนรับมือ “พายุจ่ามี" อาจทำฝนตกหนัก แจ้งนายอำเภอเตรียมรับมือ 24 ชม. ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ ขณะที่อ่างเก็บน้ำเหลือน้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤต
26 ต.ค. 2567 ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่องพายุ “จ่ามี” ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ พายุโซนร้อนกำลังแรง "จ่ามี (TRAMI)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากประมาณ 400 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน
กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า จะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทางด้านตอนกลาง ใกล้บริเวณเมืองดานังของประเทศเวียดนาม ในช่วงวันที่ 26-28 ตุลาคม 2567 โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางด้านหน้าของพายุในช่วงดังกล่าว แต่อาจจะส่งผลกระทบทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตดหนักบางแห่ง กับมีลมแรงในช่วงวันดังกล่าว
หลังจากนั้น พายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนาม กลับไปทางทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนลดลง
- วันนี้ (26 ต.ค. 2567) จึงคาดว่าจังหวัดที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
- วันที่ 27 ตุลาคม 2567 พื้นที่ จังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
- วันที่ 28-29 ตุลาคม 2567 พื้นที่ จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
จากการพยากรณ์ และคาดการณ์ลักษณะอากาศดังกล่าว กองอำนวยการและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้อำนวยการจังหวัด จึงได้แจ้งโทรสารด่วนที่สุด ที่ นม. (กปภจ.) 0021/ว 202 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ไปถึงนายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครราชสีมา ให้เตรียมความพร้อมป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2567
ทั้งการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมประโชกแรง รวมทั้งให้แต่ละอำเภอประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย บูรณาการเตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย และกำลังพลให้พร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุ และให้มีความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้แต่ละอำเภอประเมินพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคไว้ด้วย และให้เร่งรัดสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบต่างๆ หรือจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สูบมาไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตประปาให้เต็มความจุ เพื่อให้มีน้ำสำรองเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ และยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้า
เนื่องจากสถานการณ์เก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา รวม 27 แห่ง ล่าสุดวันนี้ พบว่า เหลือน้ำเก็บกักรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 624.98 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 51.19 % และเป็นน้ำใช้การได้ 562.14 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 48.55 % เท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่
อ่างเก็บน้ำลำตะคอง
- ส่งจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ
- เหลือน้ำแค่ 105.72 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 33.62 %
- เป็นน้ำใช้การได้เพียง 83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.45 % เท่านั้น
- ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ”
อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง
- เหลือน้ำเก็บกัก 88.49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57.10 %
- เป็นน้ำใช้การได้ 87.77 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 56.90 %
อ่างเก็บน้ำมูลบน
- เหลือน้ำ 84.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 59.85 %
- เป็นน้ำใช้การได้ 77.39 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 57.76 %
อ่างเก็บน้ำลำแชะ
- เหลือน้ำ 152.53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 55.47 %
- เป็นน้ำใช้การได้ 145.53 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 54.30 % เท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง
- เหลือน้ำเก็บกักรวมอยู่ที่ 193.83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57.80 %
- เป็นน้ำใช้การได้ 168.45 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 54.35 %
ดังนั้น ทุกอ่างฯ จะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อให้เพียงพอใช้จนกว่าจะถึงฤดูฝนปีหน้า