อย. เตรียมสุ่มตรวจใหม่ 'องุ่นไชน์มัสแคท' แจงมาตรการตรวจ 'ผัก-ผลไม้' นำเข้า
อย. เตรียมสุ่มตรวจใหม่ "องุ่นไชน์มัสแคท" หลังเครือข่ายไทยแพน เผยผลสำรวจพบสารตกค้าง พร้อมแจงมาตรการตรวจ "ผัก-ผลไม้" นำเข้า ปี 68 ตรวจเพิ่ม 10 เท่าตัว
28 ต.ค. 2567 นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวในประเด็นมาตรการการกำกับและดูแลคุณภาพผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดย อย. หลังจากผู้บริโภคออกมาเปิดเผยว่าพบองุ่นไชน์มัสแคทที่ขายในท้องตลาด มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน และเรียกร้องให้ อย.เข้มงวดกับการตรวจจับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะถูกกักไม่ให้มีการนําเข้าจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกําหนด เมื่อผักและผลไม้ได้รับการอนุญาตนําเข้ามาจําหน่ายภายในประเทศแล้ว อย. มีมาตรการในการกํากับ ดูแลต่อเนื่อง
โดยเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จําหน่าย โรงคัดและบรรจุผักผลไม้ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเป็นประจําทุกปี รวมทั้งร่วมกับ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในการกํากับดูแลเฝ้าระวังผักและผลไม้ ที่อาจมีสารกําจัดศัตรูพืช การเกษตรตกค้างที่สถานที่จําหน่ายและสถานที่ผลิตโรงคัดและบรรจุผักผลไม้ทั่วประเทศ
นพ. สุรโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมีการนําเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศเป็นจํานวนมาก ซึ่งเรามีมาตรการต่างๆ ในการที่จะดูแล โดยเรามีการกำหนดสารตกค้าง เป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่กําหนดว่าสารพิษที่ตกค้างไปในผักผลไม้จะมีอะไรได้บ้าง และก็ไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในบางชนิดอาจจะไม่มีอยู่ในของคณะกรรมการกรมวิชาการการเกษตรที่ประกาศไว้
แต่เราก็มีการใช้มาตรฐานจากต่างประเทศ ซึ่งมีมาตรฐานว่า ใช้สารอะไรได้บ้างและได้ปริมาณเท่าไหร่ ในกรณีถ้าเกิดว่าไม่มีทั้งกรมวิชาการการเกษตร ก็จะมีการตั้งค่ามาตรฐานไว้ ก็คือ 0.01 พีพีเอ็ม ซึ่งเรียกว่าน้อยมาก ฉะนั้นในแง่ของกฎหมายเวลาที่เราเจอสารต่างๆ เราก็ดําเนินการตามมาตรฐานที่เรากําหนดว่า เกินหรือเปล่า เป็นสารที่เรารับรู้หรือเปล่า
"เพราะฉะนั้นสิ่งที่นําเข้าไม่ว่าจะผลไม้หรือผัก ที่นําเข้าที่ด่านจะเป็นสิ่งสกัดสําคัญก่อนที่จะเข้าประเทศ แล้วก็มีการตรวจเบื้องต้น คัดกรองเบื้องต้น ซึ่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราก็คัดกรองไปเฉพาะที่ด่านเกือบหมื่นรายการ แล้วก็เราส่งทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจรายละเอียดเพิ่มเติม 500 กว่ารายการ ในปีที่แล้ว พบว่ามีไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 35% ประมาณร้อยกว่ารายการ ซึ่งร้อยกว่ารายการเราก็ไม่ให้นำเข้าในประเทศ แล้วก็มีการดําเนินคดีกับผู้ที่นําเข้าสารตกค้างที่เกินเกณฑ์ที่กําหนด อันนี้เป็นมาตรการที่ อย.ดําเนินการ " นพ. สุรโชค กล่าว
ในปีนี้ อย. จะยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนําเข้า ผักและผลไม้ในปี 2568 โดยการเพิ่มชนิดของสารกําจัดศัตรูพืชที่ตรวจวิเคราะห์ อย่างกรณีที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเก็บข้อมูลการตรวจสารกําจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อม ในการปรับปรุงรายการสารกําจัดศัตรูที่จะตรวจวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ความปลอดภัยผักและผลไม้ และเพิ่มจํานวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จากปีงบประมาณ 2567 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ส่งตรวจวิเคราะห์โดยประมาณ 500 ตัวอย่าง จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัวอย่าง หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า
เมื่อถามว่า กรณีที่ อย. ระบุว่า การตรวจโดยไทยแพนที่มีการพบสารปนเปื้อนจริง แต่ปลอดภัยสามารถล้างและนำมากินได้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ประเด็นนี้มี 2 มิติ คือ ในมิติของกฎหมาย ถ้ามีการใส่สารที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งมีการห้ามใช้ในประเทศไทยไปแล้ว อันนี้ผิดกฎหมายแน่นอน และถ้ามีการใส่สารปนเปื้อนที่เกินค่ามาตรฐานก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน
ต่อมาคือ มิติความปลอดภัย คือ สารปนเปื้อนบางอย่างที่ติดไปกับผักผลไม้ ถ้าสารนั้นไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หรือเกินไปเล็กน้อย ถ้ามีการล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานก็สามารถทำให้สารต่างๆ ลดน้อยลงไป อย่างสารปนเปื้อนที่เราไม่รู้จักมาก่อน มีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้ต่ำมาก คือ 0.01 ppm ฉะนั้น ถ้าเกิดเกินในแง่ของกฎหมายก็ถือว่าผิด แต่ในแง่ของความปลอดภัย ต้องไปดูว่าปริมาณความปลอดภัยอยู่ที่เท่าไหร่
"แต่ในแง่ของปริมาณสารที่เกินมา แต่ไม่มาก ถ้ามีการล้างก่อนรับประทานก็สามารถรับประทานได้ ดังนั้นในแง่ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการ ส่วนในแง่ของความปลอดภัย ถ้าสารนั้นเกินปริมาณค่ามาตรฐานไปไม่มาก ผู้บริโภคก็สามารถล้างสารออกไปได้" นพ. สุรโชค กล่าว
เมื่อถามถึง ประเด็นสารปนเปื้อนที่ซึมเข้าไปในผลไม้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซึมของสารจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้น ๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะซึมเข้าต้นไม้ เช่น ซึมไปที่ ราก ลำต้น ดอกหรือใบ ส่วนการซึมเข้าเนื้อผลไม้นั้นถือว่าน้อยมาก เพราะการออกแบบชนิดสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะหวังผลให้มีการซึมไปที่เปลือก หรือดอก เพื่อให้สารนั้นไปป้องกันแมลง และมีการป้องกันเรื่องของความปลอดภัย สารนั้นก็จะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดพิษ อย่างในองุ่นที่เป็นข่าว แต่จริง ๆ อยากพูดโดยรวม ว่าผลไม้ที่มีเปลือกหนา ก็จะซึมยาก เปลือกบางก็จะซึมง่าย แต่ธรรมชาติของเปลือกองุ่นที่เรียบเนียน เมื่อล้างก็จะทำความสะอาดสารออกได้ง่ายขึ้น
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า มาตรการที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดที่สำคัญ ซึ่งจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1.บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง ก็จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่ามีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา และ 2.ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนเยอะ หรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยง ก็จะกักไว้ก่อน แต่ด้วยผักผลไม้ที่เสียง่าย เมื่อก่อนเราจะไม่ได้กักเอาไว้ ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่ามีปัญหา ครั้งต่อไปก็จะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการปัจจุบัน สามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าพิสูจน์แล้วปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้
"เราเน้น 2 สารที่แบนไปแล้วคือ คลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต และยังมีสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ โดยกำหนดสารที่จะต้องตรวจอยู่ที่ 130 รายการ ตอนนี้ก็มีการขยายเพิ่ม อย่างแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจได้ 250 สาร ซึ่งบางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจแล็บของเอกชน แต่เราก็จะเน้นในประเทศที่ส่งมา แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสาร หากผักผลไม้อะไร ใช้สารอะไรมาก ก็จะตรวจหาสารนั้น หรือประเทศไหนใช้สารอะไรมาก ก็จะต้องตรวจหาสารนั้น อย่างบางประเทศเขาไม่ได้มีการแบน 2 สารที่ไทยแบน เราก็จำเป็นต้องตรวจหาสารนั้นให้มากขึ้น" นพ.สุรโชค กล่าว
ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก อย.จึงมีมาตรการในทุกกองด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไหร่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสารบางชนิดไม่มีในประกาศของกรมวิชาการเกษตร ทาง อย. ก็ได้กำหนดมาโดยอ้างอิงจากปริมาณมาตรฐานในสากล ที่เรียกว่า โคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งจะมีระบุว่าสามารถใช้สารอะไรได้ในปริมาณเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ถ้าสารไหนที่ไม่มีการกำหนดจาก 2 แหล่งอ้างอิงดังกล่าว อย. ก็จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำมาก คือ 0.01 ppm หรือ 0.01 ในล้านส่วน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นสารที่เราไม่รู้จักมาก่อน ก็จะมีการกำหนดค่าที่ต่ำไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ส่วนแง่ของกฎหมาย เมื่อพบสารต่าง ๆ ก็จะมีการตรวจว่าพบมากหรือน้อย เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น การนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจะต้องมีการตรวจที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดสำคัญก่อนเข้าประเทศ ซึ่งในปี 2566 มีการคัดกรองเบื้องต้นที่ด่านมากกว่า 1 หมื่นรายการ และมีการส่งตรวจอย่างละเอียดโดยห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ปีละ 500 กว่ารายการ
"อย่างไรก็ตาม อยากแนะนําประชาชนที่ซื้อผักผลไม้จากนี้ก็ต้องทราบว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือควรล้างผักและผลไม้ก่อนการบริโภคทุกครั้ง การล้างผักผลไม้มีข้อมูลชัดเจนนะครับว่าจะทําให้สารปนเปื้อนน้อยลงไปอีก เพราะในการที่เรามีสารปนเปื้อนอาจจะมีเกินหรือว่าไม่เกินก็ตามในการที่มีอยู่แล้ว การล้างจะทําให้ปริมาณลดลงไปอีก เพราะฉะนั้นในการที่เจอน้อยอยู่แล้ว เราอาจจะเรียกว่าแทบจะไม่พบเลย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค" นพ. สุรโชค กล่าวทิ้งท้าย