"ฉ้อโกงปกติธุระ" คืออะไร เปิดบทลงโทษ หนักกว่า ฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน มากแค่ไหน
"ฉ้อโกงปกติธุระ" คืออะไร? เปิดบทลงโทษ หนักกว่าฉ้อโกง หรือ ฉ้อโกงประชาชน อย่างไร "คมชัดลึกออนไลน์" มีคำตอบให้
จากกรณีกองปราบฯ เตรียมพิจารณาหลักฐานเอาผิดทนายดัง ฐานความผิด "ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ" หาก "เจ๊อ้อย" จตุพร อุบลเลิศ มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีทนายดัง กรณีรถเบนซ์ รวมไปถึงกรณีหลอกให้ช่วยใช้หนี้ให้กับคนใกล้ชิด
"คมชัดลึกออนไลน์" ชวนอ่านความหมาย "ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ" คืออะไร มีโทษหนักแค่ไหน และแตกต่างจาก "ฉ้อโกง" และ "ฉ้อโกงประชาชน" อย่างไร
ความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 คือการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอก ซึ่งเป็นการประทำโดยทุจริตและการหลอกลวง ทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง หรือคนอื่นๆ หรือทำลายเอกสารสิทธิ
โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องรู้ตัวผู้กระทำผิด
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำผิดดังกล่าวต้องด้วยลักษณะในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งมาตราใด ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-14,000 บาท และเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้
ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นปกติธุระ เป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
คำว่า "ปกติธุระ" หมายความว่า กระทำซ้ำๆ กัน มากกว่า 1 ครั้ง จะต้องได้ความว่ากระทำความผิดเป็นสันดาน ในลักษณะที่จะเป็นการกระทำเช่นนั้น ต่อๆ ไป โดยต้องดูเจตนาของผู้กระทำ แต่แม้จะกระทำครั้งแรก ถ้าเจตนาจะกระทำเป็นปกติธุระ คือจะกระทำอย่างสม่ำเสมอในเวลาภายหน้า ก็เป็นความผิด
ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 60
นอกเหนือจากโทษทางอาญาที่จะได้รับเนื่องจากการกระทำความผิด ยังมีมาตราทางแพ่งที่ใช้ดำเนินการ คือ ถ้าหากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ปปง. จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ พิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน
อ้างอิง : กองปราบปราม