ข่าว

จุกอก! หนุ่มอุดรฯ แรงงานไทยในอิสราเอล สิ้นลมในวันเกิดลูกชาย แม่เผยถึงลางบอกเหตุ

จุกอก! หนุ่มอุดรฯ แรงงานไทยในอิสราเอล สิ้นลมในวันเกิดลูกชาย แม่เผยถึงลางบอกเหตุ

01 พ.ย. 2567

จุกในอก! หนุ่มอุดรฯ แรงงานไทยในอิสราเอล เสียชีวิตในวันเกิดลูกชาย พยายามติดต่อพ่อ แต่พ่อไม่อ่านไลน์ ขณะที่แม่เผยถึงลางบอกเหตุ

1 พ.ย. 2567 จากกรณี เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 เกิดเหตุการณ์ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โจมตีภาคเหนือของอิสราเอล 2 ระลอก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีแรงงานไทย 4 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ บริเวณเมืองเมทูลา ทางเหนือของอิสราเอล ติดชายแดนเลบานอน และจากการตรวจสอบพบว่า 1 ใน 4 ราย เป็นแรงงานชาว อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ทราบชื่อคือ นายอรรคพล วรรณใส อายุ 29 ปี หรือ โจ เบื้องต้นทราบว่า นายจ้าง ได้ขออนุญาตนำแรงงานไทยเข้าไปในพื้นที่ เป็นระยะเวลาสั้นๆ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งกองทัพอิสราเอลอนุญาต จนเกิดเหตุสลดดังกล่าว

 

จากข้อมูลทราบว่า ผู้เสียชีวิต 4 ราย ได้แก่ นายอรรคพล วรรณใส มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.อุดรธานี นายประหยัด มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ นายธนา  มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา และ นายกวีศักดิ์  มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

บ้านพักผู้เสียชีวิต ใน จ.อุดรธานี

 

ล่าสุดวันนี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านพัก นายอรรคพล  ท้องที่ หมู่ 3 บ้านดงหมากหลอด ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 แรงงานไยที่เสียชีวิต โดยบ้านของผู้เสียชีวิตพบว่ามีเพื่อนบ้านที่ต่างทราบข่าวเดินทางมาสอบถาม และให้กำลังใจกับกับพ่อแม่ของผู้เสียชีวิต

 

ในวันเดียวกันแรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัดอุดรธานี ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมสอบถามข้อมูลเพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

 

นางบุญแปง ววรณใส อายุ 56 ปี แม่นายอรรคพล เปิดเผยว่า ลูกชายไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ 4 ปีแล้ว ไปทำงานเกษตรกรที่สวนผลไม้เห็นว่า เก็บแอบเปิ้ล ทุกปีจะกลับมาเยี่ยมบ้าน หลังสงครามอิสราเอลช่วงเดือนตุลาคมปี 2566 ลูกชายก็เดินทางกลับมาบ้าน แล้วก็เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลใหม่ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566

แรงงานไทย ผู้เสียชีวิต

 

ตนมารู้ว่าว่าลูกชายมาเสียชีวิต ก็เมื่อคืนวานนี้ เพื่อนรุ่นพี่ของลูกชายโทรมาบอก เขาบอกว่า “โจกับนายจ้างถูกระเบิด” แทบช็อกเมื่อได้ยินแบบนั้น ร้องไห้จนไม่มีน้ำตา เขารักแม่มาก ไม่อยากแม่ทำงานหนัก บอกว่าจากนี้ไปแม่จะสบายแล้ว ผมจะดูแลพ่อและแม่เอง ทุกวันจะวิดีโอคอลมาหาพ่อแม่ และคุยกับ น้องเกฟ วัย 11 ขวบ ลูกชายคนเดียวของเขาทุกวัน

 

บอกให้แม่ทนเอาหน่อยว่า ปีหน้าจะกลับมาอยู่บ้านแล้ว สำหรับลูกคนนี้เป็นคนขยันทำงานตลอดอยู่ที่ประเทศไทยก็ทำงาน ไม่เคยออกไปเที่ยวเล่นเที่ยวไหนเลย ไปทำงานต่างประเทศ ก็เก็บเงินเก็บทองมาสร้างบ้านให้แม่ ซื้อรถให้พ่อขับ ลูกกำลังจะตั้งหลักหาเงินสักก้อนกลับมาอยู่บ้าน แต่ลูกก็มาเสียชีวิตก่อน ตอนนี้ทางหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องก็เดินทางมาแจ้งสิทธิ์ และแสดงความเสียใจแล้ว

 

ส่วนศพของลูกชายนั้น ตนอยากได้ศพมาทำพิธีบำเพ็ญกุศลที่บ้าน อย่างไรก็ตามต้องรอการยืนยันจากสถานทูตอีกครั้งหนึ่งว่า ศพของลูกชายจะเดินทางมาวันไหน

 

ทั้งนี้ วันที่ลูกชาย คือ นายโจ เสียชีวิต คือ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 เป็นวันเกิดของหลานชาย ชื่อน้องเกฟ อายุ 11 ขวบ ซึ่งเป็นลูกชายเขาเอง น้องเกฟไม่เห็นพ่อโทรมาอวยพรวันเกิด จึงอัดคลิปเสียงส่งข้อความไปหาพ่อเขา ที่ทำงานอิสราเอล มีข้อความว่า “พ่อโจคือบ่โทรหาบักหล่าแน ถ้าทำงานก็บอกแน คิดฮอดเด้ วันเกิดบักหล่า คือ มาโทรมาหาอวยพรให่บักหล่าจักคำแน ให้บักหล่าได้ชื่นใจ บักหล่ากำลังกินเนื้อย่างกับหมู่อยู่” (แปลเป็นภาษากลางว่า พ่อทำไมไม่โทรหาลูกหน่อยถ้าทำงานอยู่ก็ขอให้บอก วันนี้วันเกิดผมทำไมพ่อไม่อวยพรให้ผมสักคำพูดสักคำให้ลูกได้ชื่นใจหน่อย ตอนนี้ลูกกินเนื้อย่างกับเพื่อน)

 

แต่พ่อก็ไม่อ่านข้อความ หรือตอบกลับสักที สุดท้ายรู้ข่าวร้ายว่า พ่อถูกระเบิดเสียชีวิต โดยน้องเกฟบอกสั้น ๆ ว่า ยังเสียใจที่สูญเสียพ่อ เมื่อวานเป็นวันเกิดผมพอดี แต่พ่อก็มาเสียชีวิตในวันเกิดผม  

 

ทั้งนี้ ก่อนที่ลูกชายจะเสียชีวิตนั้น 4-5 วัน ตนก็ฝันว่ามีเครื่องบินตก แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นลาง

 

แม่ผู้เสียชีวิต

 

หากดวงวิญญาณของลูกชายรับรู้ได้ อยากจะบอกโจว่า ลูกคือดวงใจของแม่ ไม่รู้ว่า แม่จะอยู่ไปได้นานแค่ไหน พูดไปคิดไป ก็เอาชีวิตลูกชายกลับคืนมาไม่ได้

 

ทางด้าน ว่าที่ร้อยโท อนุเทพ ศรีดาวเรือง จัดหางานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุและรู้ข่าวว่ามีแรงงานไทยชาวอุดรธานีเสียชีวิต กระทรวงแรงงานได้สั่งการลงพื้นที่ตรวจสอบและปรากฏว่า แรงงานชาวไทยชาวอุดรธานี ชื่อนายอรรคพล วรรณใส เคยทำงาน โดยรัฐจัดส่งตั้งแต่ปี 2563 และเดินทางกลับมาเดือนตุลาคม 2567 ช่วงที่เกิดภัยสงครามปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้รับสิทธิประโยชน์ค่าชดเชยต่างๆ กรณีภัยสงคราม เงินสงเคราะห์ ที่รัฐบาลได้มอบให้

 

กลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน ก็เดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล อีกครั้ง จากข้อมูลตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่าแรงงานคนนี้เดินทางไปกับที่ประเทศอิสราเอล ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ ไม่มีข้อมูลเลย มารู้อีกทีเขาก็เสียชีวิตแล้ว สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีผู้เสียชีวิตนั้น ต้องรอร่างเขากลับมาถึงประเทศไทย ทางเราก็จะได้มีการรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้กรมการจัดหางานเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ว่าเขายังคงมีสิทธิที่จะได้รับ เงินจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานหรือไม่ และจะได้รับเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพหรือไม่อีกครั้ง ส่วนที่สิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศอิสราเอล ตนเชื่อว่าประเทศอิสราเอลน่าจะช่วยเหลือ ในเรื่องสิทธิประโยชน์ตามระเบียบต่อไป