ข่าว

ทำความรู้จัก EEHV โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ที่คร่าชีวิตลูกช้างไปแล้วหลายเชือก

ทำความรู้จัก EEHV โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ที่คร่าชีวิตลูกช้างไปแล้วหลายเชือก

06 พ.ย. 2567

ทำความรู้จัก EEHV โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ที่คร่าชีวิตลูกช้างไปแล้วหลายเชือก อาการของโรค รุนแรงแค่ไหน

จากกรณีข่าวเศร้า "น้องกันยา" นักสู้ภูวัว หรือ ลูกสาวแห่งชาติ ของบรรดาแฟนคลับคนรักช้าง ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการป่วย โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) ระหว่างเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เมื่อเวลา 23.31 น. วันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพจร่มแดนช้าง Tusker Shelter ระบุว่า การจากไปของน้องกันยา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือกับโรคไวรัส EEHV Type4 อย่างจริงจัง
 

น้องกันยา - ควาญขลุ่ย


EEHV โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง คืออะไร?

ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE) ให้ข้อมูลว่า โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง หรือ EEHV (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุลย่อย Betaherpesviridae

โดยในปี 1998 มีรายงานการตายของลูกช้างเอเชียที่สวิตเซอร์แลนด์ว่าตายจากอาการของโรคทางระบบเลือดเฉียบพลัน (Acute hemorrhagic disease) และพบการตายของลูกช้างที่มีอาการดังกล่าวที่สวนสัตว์ในยุโรปและอเมริกาเหนืออีกกว่า 20 เคส ในช่วงยุค 1990

ต่อมาได้ถูกค้นพบว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Elephant Endotheliotropic Herpesvirus เป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1999 โดยไวรัสชนิดนี้ พบได้เฉพาะในช้าง ทั้งช้างเอเชีย (Elephas maximus) และช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ปัจจุบันพบว่าไวรัสมี 8 ชนิดย่อย ได้แก่ 1, 1A, 1B, 2, 3, 4, 5 และ 6 โดยช้างเอเชียจะพบชนิด 1, 1A, 1B, 3, 4 และ 5

สำหรับในประเทศไทย มีรายงานการตายของลูกช้างด้วยอาการคล้ายโรค EEHV ในปี 2005 ก่อนจะตรวจพบเชื้อ EEHV1A จากตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจที่ถูกเก็บแช่แข็งไว้ในอีก 5 ปีต่อมา และพบการติดเชื้อ EEHV4 ในลูกช้างอายุ 3 ปีเมื่อปี 2011 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่พบในเอเชีย และครั้งที่สองของโลกที่พบเชื้อชนิดนี้

ความรุนแรงของโรค EEHV

โรค EEHV เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเลือดของช้าง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดเป็นหลัก สำหรับอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ช้างจะมีอาการซึม อ่อนแรง มีไข้ มีการบวมน้ำที่ส่วนหัว งวง คอ ขา ท้อง เนื่องจากผนังหลอดเลือดถูกทำลาย ทำให้ของเหลวไหลออกนอกเส้นเลือด โดยเห็นชัดที่สุด บริเวณใบหน้าของช้าง ลิ้นบวม ม่วง พบจุดเลือดออกหรือแผลหลุมได้

เชื้อ EEHV4 จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย ทำให้ช้างมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด โรคนี้มีความรุนแรงมากในช้างอายุต่ำกว่า 15 ปี พบอัตราการตายสูงถึง 85% ลูกช้างอาจตายได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มแสดงอาการ เนื่องจากภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว สำหรับการแพร่กระจายโรค พบว่ามาจากการสัมผัสโดยตรงกับช้างที่ติดเชื้อเป็นหลัก โดยเชื้อแพร่ออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากงวง น้ำลาย หรือของเหลวต่างๆ ในร่างกาย
 

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE)

แนวทางการรักษาและป้องกันโรค

เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ สัตวแพทย์จะรักษาตามอาการ ทั้งการให้ยาต้านไวรัส ยาลดปวดลดอักเสบ ให้สารน้ำและยาบำรุง ไปจนถึงการถ่ายเลือด และโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงเน้นไปที่การสังเกตอาการช้างเป็นหลัก หากพบความผิดปกติของลูกช้าง เช่น ซึม ตัวร้อน หน้าเริ่มบวม ลิ้นเริ่มมีสีเข้มขึ้น หรือถ่ายเหลว ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที หากได้รับการรักษาไว จะยิ่งลดโอกาสในการเสียชีวิตของลูกช้างได้ นอกจากนี้ในหลายพื้นที่มีการให้วิตามินซีเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกช้างอีกด้วย


EEHV ในประเทศไทย

จากบรรยายพิเศษของ ผศ.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานวันช้างไทย 2567 จัดโดยมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ระบุตอนนี้หนึ่งว่า โรคนี้ยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญกับประชากรช้าง ทั้งช้างป่า และช้างบ้าน ในประเทศไทย ความสัมพันธ์ของช้างป่า กับโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ส่วนใหญ่จะตรวจเจอกับลูกช้างที่โดนฝูงทิ้ง อาจทำให้ร่างกายเขาอ่อนแอมาอยู่แล้ว พอได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป จะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และลูกช้างจะเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

โดยข้อมูลการเกินโรค เฮอร์ปีส์ไวรัส ในช้างเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2006-2023 พบจำนวนช้างเสียชีวิตด้วย เฮอร์ปีส์ไวรัส ทั้งสิ้น 85 ตัว หรือประมาณ 8-9 ตัว/ปี 

 

 

ขอบคุณภาพน้องกันยา : ขลุ่ย เสือคาบดาบ