ข่าว

"โรคไอกรน" ระบาด สาธิต มศว ปทุมวัน เริ่มมาจากไหน "สมศักดิ์" วอนอย่ากังวล

"โรคไอกรน" ระบาด สาธิต มศว ปทุมวัน เริ่มมาจากไหน "สมศักดิ์" วอนอย่ากังวล

13 พ.ย. 2567

"โรคไอกรน" ระบาด สาธิต มศว ปทุมวัน เริ่มมาจากไหน "สมศักดิ์" วอนอย่ากังวล หลังพบอีก 20 ราย ย้ำ เด็กไทยส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ประกาศหยุดการเรียนการสอน 2 สัปดาห์ จาก โรคไอกรน ระบาดว่า ตนได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าระยะแรก พบผู้ป่วยเป็นเด็กมัธยม 5 ราย ในช่วงวันที่ 16 ก.ย. - 25 ต.ค. โดยทุกรายฉีดวัคซีนครบ สงสัยการระบาดเริ่มจากทีมบาสเก็ตบอลของโรงเรียน หลังจากการสอบสวนโรคเพิ่ม 4-8 พ.ย. 2567 พบอีก 20 ราย

 

 

สำนักอนามัย กทม. และ กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมสอบสวนโรค หาปัจจัยเสี่ยง คัดกรองผู้ป่วย ผู้สัมผัสใกล้ชิด ติดตามผู้ป่วยให้ยาป้องกันในกลุ่มเสี่ยง ประเมินสถานการณ์การระบาดร่วมกัน ประสานสถานศึกษาเพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วย พร้อมทั้งทำความสะอาดโรงเรียนตามมาตรฐานสุขอนามัยทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องพ่นฆ่าเชื้อ เนื่องจากโรคไอกรนแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอจามเป็นหลัก แต่ต้องจัดระบบระบายอากาศในห้องเรียนให้เหมาะสม 

 

พร้อมกันนี้ ควรตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนของนักเรียนและบุคลากร ประชุมวางแผนมาตรการกับทางโรงเรียน สื่อสารความเสี่ยง ปรับรูปแบบการเรียน ประสานหน่วยงานกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ และติดตามข้อมูลสถานการณ์ของผู้สัมผัสใกล้ชิดในเหตุการณ์นี้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567

 

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน

 

 

"ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลมากเกินไป เนื่องจากเด็กไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนครบถ้วน โอกาสเกิดโรครุนแรงจึงมีน้อยมาก แต่โรงเรียนยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองนักเรียนที่มีอาการไออย่างต่อเนื่อง เพราะระยะฟักตัวของโรคอาจนานถึง 21 วัน ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะทบทวนประวัติวัคซีนของบุตรหลาน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยประถมปลาย ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

แนะนำว่าในทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วยให้นำสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนไปพบแพทย์ทุกครั้งเพื่อหารือ เผื่อในกรณีที่มี ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือมีวัคซีนใหม่ๆ ขึ้นมาจะได้เพิ่มโอกาสที่บุตรหลานจะได้รับการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม" นายสมศักดิ์ กล่าว  

 

 

โรคไอกรน 

 

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านการไอ จาม มีอาการคล้ายหวัดทั่วไปในช่วงแรก หลังจาก 1-2 สัปดาห์ จะไอรุนแรง ไอ เป็นชุดๆ ในบางรายอาจหยุดหายใจ และเสียชีวิต ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ ถุงลมอุดกั้น เฝ้าระวังอาการ หากมีอาการเข้าได้ให้รีบไปพบแพทย์ 

 

กลุ่มที่เคยไดรับ วัคซีน แล้ว เช่น เด็กโต กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวระบบทางเดินหายใจ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้ม ที่จะถ่ายทอดไปให้บุตรได้ เนื่องจาก วัคซีนไอกรน จะเริ่มให้เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 

 

ดังนั้น ช่วงแรกเกิดถึง 2 ปี จะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม ยังคงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อลดการถ่ายทอดโรคเชื้อระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ รัฐสนับสนุนวัคซีนไอกรน ฉีดในเด็กทุกคน เข็มแรกตั้งแต่อายุ 2 เดือน ต้องฉีดรวม 5 เข็ม แต่ภูมิคุ้มกันจะลดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

 

 

ข้อมูล : Hfocus