ข่าว

เปิดคำร้องฝากขัง "นุ-สา" ตุ๋น 39 ล้าน จากเจ๊อ้อย ชัด "ทนายตั้ม" มีเอี่ยวยังไง

เปิดคำร้องฝากขัง "นุ-สา" ตุ๋น 39 ล้าน จากเจ๊อ้อย ชัด "ทนายตั้ม" มีเอี่ยวยังไง

13 พ.ย. 2567

ละเอียดยิบ เปิดคำร้องฝากขัง "นุ-สา" ตุ๋น 39 ล้าน จากเจ๊อ้อย ชัด "ทนายตั้ม" มีเอี่ยวยังไง ไร้เงาญาติยื่นประกัน ส่งนอนเรือนจำ

13 พ.ย. 2567 ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ตำรวจสอบสวนกลาง นำตัวนายนุวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี และ น.ส.สารินี (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ผู้ต้องหา ที่ 1-2 คนสนิท นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" มาฝากขังศาลครั้งแรก ในข้อหากระทำผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง ,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ,ร่วมกันฟอกเงิน

พฤติการณ์แห่งคดี คือ ก่อนเกิดเหตุ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ ผู้เสียหาย ได้ว่าจ้างนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมานายษิทรา ได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้กับผู้ต้องหาที่ 1 หลายครั้งต่างกรรม ต่างวาระกัน ดังนี้


1. นายษิทราได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ลงทุนขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางออนไลน์แต่อ้างว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเขียนโปรแกรมและระบบก่อนเป็นเงินจำนวน 2,000,000 ยูโร พร้อมกับได้นำสัญญาว่าจ้างมาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของนายษิทรา จำนวน 71,067,764.70 บาท

2. ผู้เสียหายได้มอบหมายให้นายษิทรา หาซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์รุ่นจี 400 จากนั้นนายมิทราได้หลอดลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสามารถหาซื้อรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นดังกล่าว ได้แล้วจาก บ. 999อิมพอร์ต จำกัด ในราคา 12,900,000 บาท และมีค่าติดฟิล์มรถยนต์ จำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 12,930,000 บาท

ทั้งที่ความจริงแล้วรถยนต์คันดังกล่าว มีราคาเพียง 11,400,000 บาท โดยไม่มีราคาติดฟิล์ม ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินชำระค่ารถยนต์คันดังกล่าว ไปเข้าบัญชีเงิธนาคารของนายษิทราทำให้ นายษิทราได้ค่าส่วนต่าง เป็นเงินจำนวน 1,530,000 บาท
 

นายนุวัฒน์ (สงวนนามสกุล)

3. นายษิทรา ได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ได้ว่าจ้าง บริษัทฯ ผู้เขียนแบบก่อสร้างโรงแรมดิแองเจิ้ล ที่ผู้เสียหายจะก่อสร้าง โดยนายษิทรา อ้างว่ามีค่าจ้างเขียนแบบ เป็นเงินจำนวน 9,000,000 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วนายษิทราได้ไปว่าจ้างบริษัท กริด อาร์คิเทคท์ จำกัด ให้เขียนแบบโรงแรมดังกล่าวให้กับผู้เสียหายแล้ว ในราคา 3,500,000 บาท

ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินชำระค่าเขียนแบบดังกล่าว จำนวน 9,000,000 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารของกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทฯ คนหนึ่ง จากนั้นได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้กันนายษิทรา ทำให้นายษิทราได้ค่าส่วนต่าง 5,500,000 บาท

4. นายษิทรา, นายนุวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 1 และน.ส.สารินี ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้ต้องหาที่1 มีกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถโอนสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ได้ ผู้เสียหายจึงให้ผู้ต้องหาที่ 1 โอนสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ให้กับผู้ใช้อินสตราแกรม ชื่อบัญชี เฉินคุณ

จากนั้นได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าผู้ต้องหาที่ 1 ได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 โอนเงินไปยังบุคคลดังกล่าว แล้วทำให้กระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 ถูกระงับการใช้งาน ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน จำนวน 39,000,000 บาท

โดยได้ร่วมกันส่งภาพถ่ายสำเนาบันทึกประจำวันแจ้งกรณีถุกอายัดเงินดังกล่าวไปให้ผู้เสียหายดูทางแอปพลิเคชั่นไลน์ ด้วยทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 ถูกระงับจริง ทั้งที่ความจริงแล้วกระเป๋าเงินสกุลติจิทัลของ ผู้ต้องหาที่1-2 ไม่ได้ถูกระจับการใช้งานแต่อย่างใด

น.ส.สารินี (สงวนนามสกุล)

ผู้เสียหายจึงส่งมอบเงินให้กับผู้ต้องหาด้วยการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงิน จำนวน 39,000,000 บาท ให้กับผู้ต้องหาที่ 2 แล้วผู้ต้องหาที่ 1-2 ได้ร่วมกันนำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 2 จากนั้นนายษิทรา, ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินสด จำนวน 39,000,000 บาท ดังกล่าว ออกจากบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 2

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกง ,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ,ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน"

อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 341 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่26) พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1), พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18) ,มาตรา 5 ,มาตรา 9 วรรคสองและมาตรา 60 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.การฟอกเงิน (ฉบับที่4 ) พ.ศ.2556 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

ในชั้นจับกลุ่มและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออนุญาตฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-24 พ.ย. 2567

ท้ายคำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีที่ผู้ต้องหาที่1-2 ถูกกล่าวหาคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 10 ปี และได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายไปจำนวนมากถึง 39,000,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่สูงมากหากผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

อีกทั้งจากการสืบสวนทราบว่า ก่อนที่ผู้ต้องหา1-2 จะถูกจับกุมตัวมีการเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ทั้งสองคน เจตนาเพื่อให้ยากต่อการติดตามตัว และเป็นการทำลายหลักฐานการติดต่อระหว่างกันซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีรวมทั้งข้อมูลหลักฐานอื่นๆ ซึ่งมีพยานหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์มือถือดังกล่าว ถือเป็นพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอีกด้วย

ประกอบกับมีผู้เสียหายมายื่นขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษจำคุกและมูลค่าความเสียหายสูงหากผู้ต้องหา1-2 ได้รับการปล่อยชั่วคราวไปเกรงจะหลบหนีซึ่งจะส่งผลให้ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายในคดี

ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและสอบผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ไม่ปรากฏว่า มีญาติ หรือทนายความมายื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองแต่อย่างใด ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายนุวัฒน์ และน.ส.สารินี  ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลางตามลำดับต่อไป