รู้แล้ว สาเหตุ "น้ำผุดเมืองนะ" เชียงดาว เกิดจากอะไร?
รู้แล้ว สาเหตุ "น้ำผุดเมืองนะ" เชียงดาว จากปรากฏการณ์กาลักน้ำ ด้าน กรมทรัพยากรน้ำฯ เร่งหาแนวทาง ลดผลกระทบระยะยาว
นางพบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 (ลำปาง) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีน้ำผุดท่วมบ้านเรือนประชาชน ในเขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พ.ต.อ.ประดิษฐ์ ติ้บมา ผกก.สภ.นาหวาย พร้อมเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย อำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ครั้งนี้
จากการตรวจสอบพบว่า มีจุดน้ำผุดท่วมขัง จำนวน 4 จุด ได้แก่
- จุดที่ 1 บริเวณบ้านรินหลวง หมู่ที่ 3 (น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร)
- จุดที่ 2 บ้านหนองเขียว หมู่ที่ 12 (น้ำผุดท่วมถนนเส้นหลัก)
- จุดที่ 3 บ้านหนองเขียว (หย่อมหนองวัวแดง) หมู่ที่ 12 (น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนประชากรได้รับผลกระทบบางส่วน)
- จุดที่ 4 บ้านอรุโณทัย หมู่ที่ 10 หมวด 2 (น้ำท่วมสูง บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย)
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งจะได้แจ้งผลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบต่อไป
ด้าน นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีน้ำผุดส่งผลกระทบต่อประชาชนที่บ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ว่า เมื่อวานนี้ (14 พ.ย. 67) หน่วยงานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลเมืองนะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล
พบว่าพื้นที่ตั้งแต่บ้านรินหลวงขึ้นไปทางเหนือจนถึงบ้านอรุโณทัย มีลักษณะเป็นที่ราบหุบเขาหลุมยุบขนาดใหญ่ และจะมีหลุมยุบ (sinkhole) อยู่บางจุด ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของถ้ำหินปูนที่อยู่ใต้ดิน โดยระดับน้ำที่ผุดขึ้นมาสะสมในแต่ละพื้นที่มีความลึกตั้งแต่ 8-20 เมตร สมมติฐานของการปรากฏของน้ำคาดว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "กาลักน้ำของระบบถ้ำใต้ดิน" ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีที่มีฝนตกมาก
นางสาวศศิกานต์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ พิจารณาแนวทางการกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในระยะยาว ก่อนที่น้ำเหล่านี้จะไหลคืนสู่ชั้นน้ำบาดาลตามธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และจำเป็นต้องเจาะน้ำบาดาลในระดับความลึกกว่า 200 เมตรขึ้นไป จึงจะพบชั้นน้ำ นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในระยะยาวต่อไป