“โรคไข้ดิน” ระบาด สธ.กาฬสินธุ์ เผยดับแล้ว 3 จากผู้ป่วย 120 คน อาการ - วิธีการป้องกัน
เตือนโรคอันตรายของเกษตรกร “โรคไข้ดิน” สธ.กาฬสินธุ์ เผยยอดเสียชีวิต 3 ราย จากผู้ป่วย 120 ราย เตือนยอดผู้ป่วยแซงโรคฉี่หนู พร้อมเผยถึงอาการ และวิธีการป้องกัน
3 ธ.ค. 2567 นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า มีโรคหนึ่งที่พบในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และมักมาคู่กับกับโรคฉี่หนู คือ โรคเมลิออยด์ หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า โรคไข้ดิน หรือ โรคไข้ชาวนา ซึ่งเป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดิน น้ำ และสัตว์เลี้ยง ระยะหลังพบผู้ป่วยมากกว่าโรคฉี่หนู
โดยเฉพาะในปี 2567 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบจำนวนผู้ป่วยมากถึง 120 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย พบผู้ป่วยมากสุดในพื้นที่ อ.เมือง และพื้นที่รอบลำน้ำปาว เช่น อ.ยางตลาด อ.ห้วยเม็ก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ อ.นามน อ.ห้วยผึ้ง อ.สมเด็จ และ อ.เขาวง อีกด้วย
นพ.ทวีรัชต์ กล่าวต่อว่า สำหรับเชื้อแบคทีเรียนี้ เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางบาดแผลที่ผิวหนัง , ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และ สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เขาไป ทั้งนี้หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วัน จะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และภูมิต้านทานของแต่ละคนด้วย
อาการของโรค
โรคไข้ดิน อาการจะไม่มีลักษณะเฉพาะ มีอาการไม่แน่นอน มีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง , มีฝีที่ผิวหนัง , มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทรวมอยู่ด้วย อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้
ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเฉพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
โรคนี้พบในกลุ่มอาชีพเกษตรกรมากที่สุด พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากอันดับ 1 ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ทั้งนี้ โรคเมลิออยด์ ไม่มีวัคซีนป้องกัน และสามารถป่วยซ้ำได้อีก
ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ มี 5 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ที่ต้องสัมผัสกับดิน และน้ำโดยตรง หรือสัมผัสสัตว์เลี้ย งที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างก่าย เช่น แมว , สุนัข , หมู , ม้า , วัว , ควาย , แกะ หรือ แพะ เป็นต้น , กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า , กลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน , กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง และ กลุ่มคนสูบบุหรี่จัด หรือติดเหล้า
วิธีการป้องกัน
ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำ โดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบ ทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน และน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท
รับประทานอาหารปรุง สุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น การอยู่ท่ามกลางสายฝน และลดละเลิกการดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้น และมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามทางสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกแห่ง และ อสม.ที่มีอยู่ทุกชุมชน หมู่บ้าน ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการหรือสงสัยให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน