วิธีลงทะเบียน รับเงิน "เยียวยาน้ำท่วม" 9,000 บาท ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
วิธีลงทะเบียน รับเงิน "เยียวยาน้ำท่วม" 9,000 บาท ช่วยผู้ประสบภัย 16 จังหวัด เช็กเลยใช้เอกสารอะไรบ้าง?
9 ธ.ค. 2567 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม ในพื้นที่ 16 จังหวัด เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงตอบข้อซักถามและประเด็นสำคัญเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือ และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 16 จังหวัด รวมถึงผู้แทนธนาคารออนสิน เข้าร่วมประชุม
นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 5,039 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ในพื้นที่จังหวัด 16 จังหวัด ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มแรก เป็นกลุ่มจังหวัดที่เกิดสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม - 2 พฤศจิกายน 2567 รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี (เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 57 จังหวัดแรก)
- กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่เกิดสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
รวมทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 667,257 ครัวเรือน (ข้อมูลวันที่ 2 ธ.ค. 67 เวลา 06.00 น.)
นายเธียรชัย กล่าวอีกว่า การให้ความช่วยเหลือฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 และวันที่ 8 ตุลาคม 2567 การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในพื้นที่ 57 จังหวัด ในอัตราเดียวกัน คือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท ใน 2 กรณี คือ
- 1.กรณีที่อยู่อาศัยประจำที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
- 2.กรณีที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง เกินกว่า 7 วัน
โดยจะต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับกรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำประสบภัยหลายครั้งสามารถขอรับความช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียว
นายเธียรชัย กล่าวต่อว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เน้นย้ำพื้นที่ประสบภัยทั้ง 16 จังหวัด ให้ดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการคู่ขนานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอน้ำลด และทยอยส่งข้อมูลเข้ามามายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องอีกครั้งก่อนส่งไปยังธนาคารออมสินเพื่อทำการโอนเงินให้กับประชาชนต่อไป โดยคาดว่าสามารถทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ในรอบแรกได้ภายในวันที่ 16 มกราคม 2568
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ ขอให้จังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมให้อำเภอแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี และดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) ผูกบัญชีธนาคารกับตัวเลขประจำตัวประชาชน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบ และรับรองข้อมูลเพื่อเสนอกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.อ.) ให้ความเห็นชอบก่อนส่งข้อมูลมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมและนำส่งข้อมูลให้กับธนาคารออมสินโอนเงินให้กับผู้ประสบภัยต่อไป
และเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เปิดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือไว้ 2 ช่องทาง ทั้งรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online
ยื่นแบบ Onsite ประชาชนสามารถยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ส่วนการยื่นแบบ Online ดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
แต่ในการยื่นผ่านช่องทาง Online นี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อนจะยื่นคำร้อง เนื่องจากจะไม่สามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้ หลังจากยื่นคำร้องผ่านระบบ Online เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เอกสารหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ
- บัตรประจำตัวประชาชน
- พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน)
- สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า)
- หากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3
- ไม่รวมถึงบ้านพักที่หน่วยราชการจัดให้
ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ส่วนการยื่นคำร้องฯ ผ่านระบบ Online ระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ (คลิก) ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตลอดจนขอเน้นย้ำประชาชนผู้ประสบภัยตรวจสอบข้อมูลบัญชีหากยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) แบบผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ขอให้ไปติดต่อธนาคารดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็วที่สุด
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2567 ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @ddpmnews ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะทำการอัปเดตข้อมูลความคืบหน้าของการให้ความช่วยเหลือและการจ่ายเงินผู้ประสบภัยเป็นระยะต่อไป