ข่าว

"ศุภชัย" เผย เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เกิดความท้าทาย 5 ด้าน

"ศุภชัย" เผย เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เกิดความท้าทาย 5 ด้าน

11 ธ.ค. 2567

"ศุภชัย" เผย 5 ความท้าทายเปลี่ยนแปลงธุรกิจยุคใหม่ 3 ด้าน "AI-การกีดกันทางการค้า-กำจัดคาร์บอน" แต่เชื่อยังต้องพึ่งพามนุษย์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Collaboration for Sustainable Future ภายในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs Goals) ที่ทางสหประชาชาติ หรือ องค์การสหประชาชาติ  กำหนด 17 ด้าน และต้องบรรลุวัตถุประสงค์ภายในปี 2030 แต่ขณะนี้เหลือเวลาอีกแค่ 6 ปี โลกทำได้เพียง 17% ของเป้าหมายเท่านั้น  


 
ทั้งนี้ SDGs Score ประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชีย และ อับดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งติดต่อกันมาแล้ว 7 ปี ถือเป็นความสำเร็จของภาคเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อน แต่ก่อนจะถึงปี 2030 สหประชาชาติ เรียกร้อง 5 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพยายามเร่งผลักดัน  

1. Gender Equality ความเท่าเทียมทางเพศ 

2. Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดยตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 

3. Inclusive Economy การจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจ  

4. Clean water & sanitation การมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค  

5. SDGs ระดมทุนรวม 3-5 ล้านล้านเหรียญ เพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมาย 

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์

 

นายศุภชัย กล่าวว่า เรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นเนื้อเดียวกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วย และจากการสำรวจความท้าทายของโลกในปีข้างหน้า โดย World Economic Forum 2025 มี 5 เรื่องใหญ่ คือ

1.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวล หากปรับตัวไม่ทัน ระบบเศรษฐกิจถึงขั้นถดถอย บริษัทที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องปิดตัวลง ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็น 70% ของมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ใน 10 ปีข้างหน้า

2.เทคโนโลยี และพลังงาน (Technology / Energy growth) ได้แก่ เอไอ ควอนตัม ไบโอเทค ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมทั้งความต้องการไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2026 ขณะนี้อุตสาหกรรมอย่าง Data Center กำลังย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย มีสัญญาณการลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

3. การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ (Investing in people) ซึ่งเอไอจะเข้ามาแทน 40% ของการจ้างงานใน 10 ปีข้างหน้า

4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เทคโนโลยีปัจจุบันลดคาร์บอนได้เพียง 66% ของเป้าหมายNet Zero

5.การสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือระหว่างประเทศอีกครั้ง และลดความขัดแย้ง (Rebuilding trust) 
 

จากความท้าทายดังกล่าว นายศุภชัยมองว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การทำธุรกิจยุคใหม่ 3 ด้าน คือ การเข้าสู่ยุคเอไอและดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งจะทำให้การบริโภคพลังงานสูงขึ้นอย่างมหาศาล ต้องเข้าสู่ระบบพลังงานสะอาด , การแบ่งขั้ว ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทำให้ซัพพลายเชนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ประเทศไทยได้รับอานิสงส์ของการเคลื่อนย้ายทุนที่เข้ามา เพื่อเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภค และความมั่นคงทางอาหาร โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม , การกำจัดคาร์บอน (Decarbonization) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดที่มีทุนไหลเข้ามามากที่สุด เศรษฐกิจของเราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาและก้าวข้ามความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม 

 

 

\"ศุภชัย\" เผย เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เกิดความท้าทาย 5 ด้าน


 
โดยขณะนี้ นาซ่า เปิดเผย ปัญหาโลกร้อนทำให้แกนโลกขยับ 4 ซม. ในทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2000 ถือเป็นเรื่องใหญ่ น้ำแข็งจากขั้วโลกละลาย ทำให้หมวดน้ำพื้นผิวโลกเปลี่ยน และทำให้มวลน้ำที่สลับขั้ว เย็น-ร้อน เปลี่ยนด้วย และไม่ได้ทำให้แกนโลกขยับเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโลกหมุนช้าลง เวลาโลกเปลี่ยน กระบวนการทำงานของดาวเทียมเปลี่ยน ตลอดจนเรื่องของการที่ UN รายงานอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นไปแล้วถึง 1.45 องศาเซลเซียส ประชากรที่จะหิวโหยจะสูงขึ้นจาก 870 ล้านคน หากอุณหภูมิสูงขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส และขึ้นไปถึง 1,059  ล้านคน และ 1,340 ล้านคน หากอุณหภูมิสูงขึ้นทะลุ 2 องศาเซลเซียส และ 3 องศาเซลเซียสตามลำดับ ซึ่งย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของการเมืองโลก ดังนั้นต้องเกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ระหว่างเอกชนกับเอกชนหรืออุตสาหกรรมต่ออุตสาหกรรม แต่ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน และรัฐต่อรัฐ 


 
สำหรับการจัดการกับปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยพลังงานสะอาด เช่น พลังงานนิวเคลียร์ แม้เคยเป็นเทคโนโลยีที่เป็นคำพูดที่เป็นตราบาปนั้น แต่เรากำลังพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อพลังงาน ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสงคราม แต่เป็นเทคโนโลยีที่ควรจะนำมาศึกษา เพราะยิ่งบอกว่า Digital Economy เท่าไหร่ ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น หากทุกคนมี AI หรือ หุ่นยนต์ เราจะใช้ไฟฟ้าทวีคูณขึ้น  


 
"ผมจะขอยืนยันตรงนี้ก่อนว่า AI หรือ หุ่นยนต์ จริงๆ แล้วมันไม่สามารถที่จะทดแทนมนุษย์ได้ เพราะเอาจริง มันไม่ได้มีเลือดเหมือนมนุษย์ ไม่ได้มีสุขทุกข์ เหมือนมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ คือ ผู้ที่จะดูแลมนุษย์ได้ดีที่สุด เพียงแต่ว่า สิ่งเหล่านี่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเราต้องทำให้มันเป็นอย่างนั้นด้วย" นายศุภชัยกล่าว 
 

\"ศุภชัย\" เผย เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เกิดความท้าทาย 5 ด้าน
 

  • เป้าหมาย NET ZERO ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

นายศุภชัย กล่าวว่า ตั้งเป้าจะเกิดขึ้นในปี  2050  โดยที่ผ่านมาเมื่อปี 2021 - 2023 สามารถปรับลดคาร์บอนลง ในขณะที่ธุรกิจยังเติบโตอยู่ประมาณ 7- 10 % ซึ่งเราทำสำเร็จโดยการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง แต่ใน 2024 เกิดความท้าทาย เพราะคาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้า 0.5 ล้านคาร์บอน ดังนั้นจำเป็นต้องซื้อ  Carbon Credit นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอีกสิ่งหนึ่งคือ หากคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องเพิ่มพลังงานสะอาดเป็น 50% ภายในปี 2030 ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ กระบวนการเหล่านี้หากไม่มีพาร์ตเนอร์ในห่วงโซ่อุปทานคงทำไม่สำเร็จ และถ้าไม่มีนโยบายรัฐก็จะทำไม่สำเร็จเช่นกัน 

 

 

  •  เปลี่ยนป่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

นายศุภชัย ถือโอกาสนำเสนอแนะ ระบุว่า ประเทศไทยมีป่าอยู่ประมาณ 100 ล้านไร่ เดิมประชาชนที่อยู่ในชุมชนใกล้ผืนป่า มีการตัดไม้ เผาป่า เก็บของป่า ปลูกพืชเชิงเดียว บุกรุกผืนที่ป่าเพื่อทำกิน แต่ถ้าเรากลับมาสร้างรายได้จาก Carbon Credit ให้คนเหล่านี้ ก็จะช่วยลดการบุกรุกและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศได้ รวมถึงที่ประชุม WEF เคยเสนอ 1.การบังคับให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกตั้งเป้าหมายความยั่งยืนและรายงานต่อสาธารณะ เพื่อให้องค์กรตระหนักและลงมือทำอย่างจริงจัง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือกว่า 80% ของ GDP ประเทศ ลุกขึ้นมาทำเรื่องเดียวกัน และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ 2.การขับเคลื่อนทุนทางการเงิน อาทิ Green Bond  


 

  • ปฏิรูปการศึกษา

นายศุภชัย เสนอว่า ควรมุ่งเน้นการเปลี่ยนโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นเพียงสถานที่ถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs 17 ข้อในหลักสูตรการศึกษา เพื่อปลูกฝังความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงชุมชนมีประสิทธิภาพทั้ง รักษาผืนป่า สร้างผืนป่า เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ต้องทำให้ได้ เป็นเป้าหมายลดคาร์บอน 1 ล้านตันต่อปี

 

\"ศุภชัย\" เผย เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เกิดความท้าทาย 5 ด้าน

 

นิทรรศการ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน: ระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”