"เหมยขาบ" แรกของปี บนยอด "ดอยอินทนนท์" นทท. แห่รับลมหนาว กิ่วแม่ปาน 4 องศา
มาแล้ว "เหมยขาบ" ครั้งแรกฤดูหนาวปีนี้ ดอยอินทนนท์ อุณหภูมิลดฮวบ เหลือ 4 องศาฯ นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวกว่า 3,981 คน
12 ธ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เกิด "เหมยขาบ" เป็นครั้งแรกของฤดูหนาว ปี 2567 ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดย ที่บริเวณลานจอดตรงข้ามพระมหาธาตุเจดีย์ พบปรากฏการณ์ "เหมยขาบ" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในฤดูหนาวในปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าน้ำค้างที่อยู่บนใบหญ้าเกิดการแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้เกิดเป็นสีขาวตัดกับสีเขียวของใบไม้ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
สำหรับอุณหภูมิต่ำสุดที่ยอดดอยวันนี้อยู่ที่ 8 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับที่จุดชมวิวกิ่วแม่ปานอุณหภูมิก็ลดลงมาเหลือแค่ 4 องศาเซลเซียส ขณะที่ที่ทำการอุทยานอุณหภูมิอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส ขณะที่จุดชมวิวด้านหน้าลานจอดรถทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานก็ คึกคัก ไม่แพ้กัน มีนักท่องเที่ยวสวมเสื้อกันหนาวสวมหมวกมายืนรอชมแสงแรกของวัน พร้อมกับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกท่ามกลางลมหนาว
ขณะที่สถิตินักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยว ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวกว่า 3,981 คน เป็นคนไทย 2,641 คน ชาวต่างชาติ 1,340 คน
ปรากฎการณ์ "เหมยขาบ" ไม่ใช่ "น้ำค้างแข็ง" เพราะเหมยขาบ จะเกิดขึ้นเมื่ออากาศชื้นใกล้ผิวดินมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ไอน้ำในอากาศจะกลายเป็นน้ำแข็งทันทีโดยไม่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำก่อน
ขณะที่ "น้ำค้างแข็ง" จะเกิดเมื่อไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำค้าง หลังจากนั้นหยดน้ำค้างจึงจะแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็งในภายหลัง เมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง สามารถพบได้ในที่อากาศหนาวจัด
สำหรับ "เหมยขาบ" ในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นช่วงเช้าในช่วงฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ โดยเกล็ดน้ำแข็งที่เกิดขึ้นบนพืชพื้นดิน จะมีลักษณะวิบวับอยู่ตามใบไม้ยอดหญ้าในช่วงเช้าที่มีอากาศเย็น เป็นปรากฏการทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นบนยอดดอยสูง อาทิดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก ภูเรือ และภูหลวง