เปิด 10 พิกัด ไหว้พระขอพรปีใหม่ 2568 เสริมบารมี ความเป็นสิริมงคลให้แก่ตัวเอง
ไหว้พระปีใหม่ 2568 ! เปิด 10 พิกัด ไหว้พระขอพรปีใหม่ 2568 เสริมบารมี ความเป็นสิริมงคลให้แก่ตัวเอง ต้อนรับศักราชใหม่
ส่งท้ายปีเก่า เริ่มต้นศักราชใหม่ 2568 หลายคนใช้ช่วงเวลาวันหยุดยาวนี้ ไหว้พระขอพร 10 วัดทั่ว กรุงเทพมหานคร ต้อนรับปีใหม่ 2568 เสริมบารมี และความเป็นสิริมงคลให้แก่ตัวเอง
1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญทางศาสนา วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง “รามเกียรติ์” ซึี่งสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ภายในวัด ได้แก่ พระปรางค์แปดองค์ พระศรีรัตนเจดีย์ปราสาท นครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ
- วันเวลา : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-15.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 500 บาท
- ช่องทางติดต่อ : 0 2623 5499
- เว็บไซต์ : www.royalgrandpalace.th
2.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดเก่าแก่ มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า "วัดแจ้ง" ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่าวัดแจ้ง ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ กำหนดให้วัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐาน และสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อบูรณะแล้วเสร็จได้พระราชทานนามว่าวัดอรุณราชธาราม ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอรุณราชวราราม
- วันเวลา : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท
- ช่องทางติดต่อ : 0 2891 2185
3.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตั้งอยู่ถนนมหาราช ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดเก่าแก่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม วัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1
เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด และนำตำราวิชาการด้านต่าง ๆ มาจารึกไว้โดยรอบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ถือว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ วัดโพธิ์มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย
- วันเวลา : เปิดทุกวัน เวลา 08.30-19.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 300 บาท
- ช่องทางติดต่อ : โทร. 08 3057 7100
- เว็บไซต์ : www.watpho.com
4.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
ดิมชื่อว่าวัดบางหว้าใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในครั้งสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางหว้าใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และยกเป็นพระอารามหลวง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชอีกด้วย สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ตำหนักแดง ลักษณะเป็นเรือนไม้สัก ฝาปะกน
เชื่อกันว่าเคยเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในพระตำหนักมีหลักฐานที่ใช้อ้างอิง คือ ฝาประจันกั้นห้องภายในตำหนักเดิม ภาพเขียนรูปอสุภชนิดต่าง ๆ อีกทั้งภาพพระภิกษุเจริญกรรมฐาน ซึ่งสอดคล้องกันกับพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้แทบจะไม่เหลือร่องรอยที่ยังปรากฏให้เห็น -หอพระไตรปิฎก ลักษณะเป็นเรือนแฝดสามหลัง
สร้างขึ้นจากไม้ที่รื้อจากพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงรับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี ชายคาเป็นรูปเทพนมเรียงรายเป็นระยะ ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ประดิษฐานอยู่ที่หอด้านเหนือ และหอด้านใต้ด้านในเป็นภาพเขียนฝีมืออาจารย์นาค ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยกรุงธนบุรี โดยตามความเชื่อ เชื่อว่าใครที่มากราบไหว้วัดระฆัง จะมีชื่อเสียงโด่งดัง
- วันเวลา : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
- ช่องทางติดต่อ : 0 2418 1079
- เว็บไซต์ : www.watrakang.com
5.วัดปากน้ำภาษีเจริญ
เป็นวัดเก่าแก่ก่อตั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่าน เชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่ จึงเรียกกันว่า วัดปากน้ำ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ยังให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วัดปากน้ำไม่ได้รับการดูแล
เนื่องจากไม่มีเจ้าอาวาสทางเจ้าคณะอำเภอขณะนั้นจึงได้ส่ง หลวงพ่อสด จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมาเป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2459 หลวงพ่อสดได้ทำให้วัดปากน้ำกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม มีภิกษุ สามเณร รวมถึงประชาชนได้เข้ามาปฎิบัติธรรมที่วัดเป็นจำนวนมากสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อสดมรณภาพเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 แต่สรีระสังขารยังถูกเก็บไว้ ณ หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต วัดปากน้ำภาษีเจริญ และยังเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปสักการะได้ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ใช้ระยะเวลาสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2555 เจดีย์เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์และล้านนาประยุกต์เข้าด้วยกัน ฐานของเจดีย์ได้ต้นแบบมาจาก วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูง 80 เมตร ภายในแบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 5 ชั้น ประกอบด้วย
- ชั้นที่ 1 พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาค เช่น รถเก่า จักรเย็บผ้า พระพุทธรูปแกะสลัก
- ชั้นที่ 2 เป็นห้องปฏิบัติธรรม
- ชั้นที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) จัดแสดงเครื่องใช้ของส่วนตัวและของที่ลูกศิษย์นำมาถวาย
- ชั้นที่ 4 เป็นห้องประดิษฐานพระทองคำรูปเหมือนหลวงพ่อสด และบูรพาจารย์ท่านอื่น ๆ
- ชั้นที่ 5 ประดิษฐานเจดีย์แก้วมรกต ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีเพดานเป็นทรงโดมระบายด้วยภาพวาดจิตรกรรมเป็นจักรวาล
นอกจากนี้มีพระพุทธธรรมกายเทพมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 40 เมตร สูง 69 เมตร ประดิษฐานคู่กับเจดีย์พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล สร้างขึ้นตามนิมิตของหลวงพ่อสดซึ่งท่านเห็นลักษณะของพระพุทธรูปนี้ในขณะที่กำลังเจริญสมาธิกรรมฐาน นอกจากจะสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- วันเวลา : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
6.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศน์เทพวราราม อยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์สร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง ให้เป็นศรีสง่าแก่พระนคร พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่สร้างยังมิทันสำเร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงดำเนินงานต่อ และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศน์เทพวราราม สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสุทัศน์ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็น อุเทสิกเจดีย์ (คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่
สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - เสาชิงช้า อยู่ใกล้วัดสุทัศน์เทพวราราม การสร้างเสาชิงช้านี้มีที่มาจากการที่วัฒนธรรมของชาวไทยมีวิถีของศาสนาพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวพันอยู่มาก เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จจึงมีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า
เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ทางที่เลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 และย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 ทำการซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2548 มีส่วนสูง 21 เมตร เสาชิงช้านี้ใช้ประกอบ พิธีตรียัมพวาย หรือ พิธีโล้ชิงช้าของศาสนาพราหมณ์ จัดในเดือนยี่ของทุกปี และยกเลิกเมื่อปี พ.ศ. 2478
นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อกลักฝิ่น ที่ประชาชนนิยมไปกราบสักการะ ขอขมากรรมจนเป็นไวรัลอีกด้วย
7.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสาตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสา อยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ บริเวณวัดเดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2412 (สมัยรัชกาลที่ 5) เสร็จในปี พ.ศ. 2413 โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมอัญเชิญ พระพุทธนิรันตราย มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัด ได้แก่ บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก
8.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้น โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ศิลปะ สถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ "Marble temple" พระประธานของวัดจำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถเรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ 52 องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง จึงถือได้ว่าเป็นการก่อสร้างศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี
เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ "Marble temple" สถาปัตยกรรมที่สำคัญภายในวัด พระพุทธชินราช (จำลอง) พระประธานของวัด จำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก พระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนทั้งหลัง อาคารทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น มุงกระเบื้องกาบูสีเหลือง ลักษณะเป็นกาบโค้ง พระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ จำนวน 52 องค์ บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ ศาลาสี่สมเด็จ เป็นแบบจัตุรมุข หน้าบันจำหลักลายและตราต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน พระระเบียงคด พื้นระเบียงปูหินอ่อน เสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง 64 ต้น เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน 28 ต้น ปลายเสาปั้นบัวปิดทองประดับกระจก -พระที่นั่งทรงผนวช เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชใน พ.ศ. 2416 -พระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร -พระวิหาร ส.ผ. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอพระธรรมมีชื่อว่า หอสมุดพุทธสาสนสังคหะ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนรสิงห์จำลอง พระฝาง และพระพุทธรูปโบราณต่าง ๆ
- ช่องทางติดต่อ : 0 2282 9686
9.วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร
อยู่ใกล้กับวัดอรุณราชวราราม ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดเจ้าสัวหง ตามชื่อเศรษฐีชาวจีนผู้สร้าง ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขยายวัดกว้างกว่าเดิม และในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดหงส์รัตนาราม" สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ -พระอุโบสถ บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักรูปหงส์เกาะกิ่งไม้ และซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นศิลปกรรมผสมผสานไทยและจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระประธานประดิษฐานบนรัตนบัลลังก์ มีพระอัครสาวกซ้าย-ขวา
และมีพระพุทธรูปสำคัญ หลวงพ่อแสน เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะ ศิลปะเชียงแสน เสาอุโบสถลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง รูปพันธุ์พฤกษา ภาพจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าเรื่องทศชาติชาดก และภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3-4 เล่าเรื่อง ตำนานพระแก้วมรกต หรือ รัตนพิมพวงษ์ ใส่กรอบแขวนไว้ที่ผนังอุโบสถเหนือประตูหน้าต่าง จำนวน 57 ภาพ ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย -พระวิหาร เป็นอาคารวางขวางกับพระอุโบสถ มีหน้าบันที่สวยเหมือนกับพระอุโบสถ
โดยมีประตูทางเข้าทางด้านยาวของพระวิหาร ภายในมีพระพุทธหลายองค์ พระพุทธรูปสำคัญศิลปะสุโขทัย นามว่า หลวงพ่อสุข หรือหลวงพ่อทองคำแห่งวัดหงส์รัตนาราม -หอไตร เป็นอาคารไม้ฝาปกน เขียนลายรดน้ำปิดทอง บานประตูไม้แกะสลักลายเครือเถา ฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ และมีตู้พระไตรปิฎกลวดลายแกะสลักงดงาม -ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระราชานุสรณ์ที่พระองค์โปรดฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัด และสระน้ำมนต์
10.วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
อยู่ที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2367-2375 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงเป็นแม่กองก่อสร้าง และเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีมุขหน้ายื่นออกมาเป็นพระอุโบสถ และมีปีกยื่นออกซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้า ที่เป็นพระอุโบสถ มีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประตูและหน้าต่าง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์
ซึ่งเป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ พระเจดีย์ทอง เจดีย์ขนาดใหญ่
ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่องค์พระเจดีย์มีซุ้มเป็นทางเข้าสู่คูหา 4 ซุ้ม ตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่โดยรอบพระเจดีย์กาไหล่ทองอีก 4 องค์ คือ พระไพรีพินาศเจดีย์ พระเจดีย์บรมราชานุสรณ์พระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจดีย์ไม้ปิดทอง พระเจดีย์โลหะปิดทอง
- วันเวลา : ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
ที่มา : ททท.