กฟผ. มอบ "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" บริการสตรีด้อยโอกาส รู้ก่อน มีสิทธิรอด
กฟผ. สนับสนุน "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" เพื่อเพิ่มโอกาสสตรีอาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกล-ด้อยโอกาส มีสิทธิรู้ รักษา ก่อนลุกลาม
ปัจจุบันโรคมะเร็งคร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่พบมากที่สุด มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี รองลงมาคือ "มะเร็งนรีเวช" หรือ มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงห่วงใยต่อสตรีไทยเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิกาญจนบารมี จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 4 หน่วย 4 ภาคทั่วประเทศ จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สำหรับตรวจภายในสตรีด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จำนวน 3 คัน พระราชทานแก่มูลนิธิกาญจนบารมี สำหรับใช้ในการตรวจค้นหา มะเร็งนรีเวช ในระยะเริ่มแรกในคราวเดียวกันกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครบรอบ 55 ปี ได้ร่วมโครงการ "หน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสนับสนุนรถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช จำนวน 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กล้องส่องตรวจปากมดลูก เครื่องที่ทำลายเนื้อเยื่อปากมดลูก เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์การตรวจภายใน เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาส ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีให้ได้รับการตรวจค้นหามะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีระยะเริ่มแรก ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับใช้ในการตรวจค้นหามะเร็งนรีเวชในระยะเริ่มแรกในคราวเดียวกันกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
"รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช"
พญ.พิสมัย เจริญปัณญวิชย์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช อธิบายเติมเพิ่มถึงขั้นตอนการตรวจ จะมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ระดับตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกตรวจพร้อมกับ "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะเป็นสตรีอายุ 30-60 ปี ที่มีอาการตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น , มีเลือดออกหลังจากเพศสัมพันธ์ (contact bleeding) , มีประจำเดือนผิดปกติ หรือกะปริดกะปรอย, ปวดท้องขณะมีประจำเดือน, ท้องอืด ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก, มีก้อนที่ท้องน้อย , หมดประจำเดือนช้ากว่า 52 ปีหรือยังไม่หมด, มีประวัติใช้ฮอร์โมนรักษามะเร็งเต้านมนาน 3 ปีขึ้นไป และ มีประวัติใช้ฮอร์โมนวัยทอง 5 ปี ขึ้นไป หากพบความผิดปกติจะส่งต่อเข้ารับการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
ยกตัวอย่าง มะเร็งปากมดลูก สาเหตุหลักๆ คือ การติดเชื้อ HPV เชื้อที่ติดต่อทั้งทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์มีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่ทำอย่างไรถึงรู้ก่อนระยะลุกลาม คือ ต้องเข้ารับการคัดกรอง หรือ การตรวจภายใน ซึ่งปัจจุบันมีทั่วประเทศไทย แต่บางครั้งในที่ชุมชนที่กันดาลหรือว่าที่ห่างไกล ประชาชนเดินทางลำบาก ดังนั้น "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" จะทำหน้าที่ให้บริการคัดกรอง และมีการตรวจด้วยเครื่องส่องปากมดลูก (Colposcopy) เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยความ ผิดปกติของปากมดลูกระยะก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูกระยะแรก
นอกจากนี้ "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" ยังสามารถตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า เพื่อรักษาความผิดปกติของปากมดลูกระยะก่อนมะเร็งขั้นที่ 2 และ 3 มีเครื่องจี้เย็น-ร้อน ซึ่งจะใช้ในการรักษาอย่างรวดเร็วและจะไม่เจ็บปวด ส่วนหากต้องตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ เราก็มีเครื่องหนีบที่เป็นรวดไฟฟ้าตัด สามารถนำเครื่องนี้ลงไปทำหัตการในโรงพยาบาลชุมชนได้ ซึ่งไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลจังหวัด
นอกเหนือไปกว่านี้เครื่องตรวจเคลื่อนเสียงความถี่สูง หรือ เครื่องอัลตราซาวด์ ตรวจมะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูก/มะเร็งมดลูก หรือการหนาตัวผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เช่น มดลูกมีก้อน หรือ มดลูกโต รวมถึงยังดูขนาดของรังไข่ ก้อนเนื้องอก และซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ที่เป็นส่วนหนึ่งอาจเกิดมะเร็งได้ เมื่อพบความผิดปกติและทำการรักษาเบื้องต้นแล้ว จะส่งให้กับโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อติดตามและวางแผนการรักษาแบบครบวงจรให้หายขาดได้
โดย "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช" ที่สนับสนุนโดย กฟผ. พร้อมกับ รถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมของมูลนิธิกาญจนบารมี จะเริ่มลงพื้นที่ภาคเหนือในวันที่ 2 ม.ค. 2568 สามารถติดตามตารางตรวจคัดกรองมะเร็งได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิกาญจนบารมี จะออกตรวจทุกวันเวลาราชการ ตรวจได้วันละ 30-60 คน /ต่อ /คัน
สำหรับสาเหตุผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีเพิ่มขึ้นในระยะลุกลาม เกิดจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่อยากไปพบแพทย์ เพราะอายและกลัวเจ็บจากการตรวจ ทำให้การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความลำบากและล่าช้า ซึ่งเป็นผลเสียต่อการรักษา โดยสถิติที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุด ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมะเร็งปากมดลูกพบได้ประมาณ 17 คน ต่อ 100,000 คน มะเร็งรังไข่พบได้ ประมาณ 8 คน ต่อ 100,000 คน และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบได้ 7 คน ต่อ 100,000 คน
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) 2.การตรวจชนิด ติน แพร็พ แป๊ป เทสต์ (ThinPrep Pap Test) 3.การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA 4.การตรวจด้วยเครื่องส่องปากมดลูก (Colposcopy) 5.การขูดมดลูก (Curettage) 6.การทำอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) 7.การส่องกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) 8.การฉีด Vaccine ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine)
ทั้งนี้ กฟผ. สนับสนุนงบประมาณให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมี รวมเป็นจํานวนเงิน 78,960,400 บาท สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1 คัน จํานวนเงิน 26,160,400 บาท สนับสนุนงบประมาณค่าดําเนินการออกหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2568 – 2572) จํานวนเงิน 52,800,000 บาท
ภายใน "รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช"
"รถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช"