ข่าว

ศาลปกครอง มีคำพิพากษา คดีค้างค่าปรับใบสั่งจราจร ต้องให้ป้ายเสียภาษีตัวจริง

ศาลปกครอง มีคำพิพากษา คดีค้างค่าปรับใบสั่งจราจร ต้องให้ป้ายเสียภาษีตัวจริง

20 ธ.ค. 2567

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา คดีค้างค่าปรับใบสั่งจราจร สั่งกรมการขนส่งทางบก ต้องให้ป้ายวงกลม เครื่องหมายแสดงภาษีตัวจริง

เมื่อ 18 ธ.ค. 2567 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีค้างค่าปรับใบสั่งจราจร คดีหมายเลขดำ 2120/2567 และคดีหมายเลขแดง 2642/2567 ระหว่าง นายอำนาจ (สงวนนามสกุล) ผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก ที่ 1, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่ 2, สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 3, ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 4, นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ 5, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวว่าเกินสมควร

คดีนี้ อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยเร่งด่วนตาม ข้อ 49/2 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

คำฟ้องตอนหนึ่งระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฮารีเออร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ผู้ฟ้องคดีได้ไปชำระภาษีรถยนต์คันดังกล่าว ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 กลับไม่ออกป้ายภาษีวงกลมที่เป็นหลักฐานการชำระภาษีรถยนต์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่งมอบให้เพียงแค่ใบเสร็จชำระเงินค่าภาษีประจำปี โดยประทับตราว่า "ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ออกในเสร็จรับเงิน"

โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 อ้างว่าผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร จำนวน 500 บาท ในข้อหาขับรถเร็วหรือต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และอ้างว่าได้ปฏิปติตามข้อตกลงที่ทำให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะต้องไปชำระค่าปรับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถออกหลักฐานป้ายวงกลมฉบับจริงให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิและจำกัดสิทธิการใช้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากหากผู้ฟ้องคดีนำรถยนต์ที่ไม่ติดป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีออกไปใช้ ผู้ฟ้องคดีก็จะต้องจ่ายค่าปรับที่ไม่ติดป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี

ผู้ฟ้องคดี เห็นว่าการค้างชำระค่าปรับจราจร กับการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การชำระภาษีรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถยนต์ แต่การกระทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องบุคคล การนำสองเรื่องมาเชื่อมโยงกันไม่ถูกต้อง เพราะบุคคลที่ขับรถยนต์คันดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจรก็เป็นได้

เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถยนต์ต้องยินยอมชำระค่าปรับ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายในการโต้แย้งสิทธิต่อสู้คดีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าขับรถช้าหรือเร็วกว่าที่อัตรากฎหมายกำหนดไว้อย่างไร

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ได้เคยมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่เจ้าของรถยนต์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2 กรณีที่ได้ออกประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า "การเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับกับการชำระภาษีประจำปี โดยหากเจ้าของรถผู้ใดไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน ไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ก็จะเป็นความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ ซึ่งหลักการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำสองเรื่องมาเชื่อมโยงกัน จึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ จึงพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว"

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าก็ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของรถและประชาชนผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

1.ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าส่งมอบป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ.2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี

2. ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้ฟ้องคดี

3. ขอให้ศาลสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดี

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ศาลปกครอง มีคำพิพากษา คดีค้างค่าปรับใบสั่งจราจร ต้องให้ป้ายเสียภาษีตัวจริง

 

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม (คลิก)