เปิด 3 สิทธิรักษาพยาบาลคนต่างด้าวในไทย
เปิด 3 สิทธิรักษาพยาบาล "คนต่างด้าว" ในไทย ได้สิทธิอะไรบ้าง? ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือ ฟรี? หากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาต้องทำอย่างไรใครรับผิดชอบ?
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้ ปม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล สิทธิอะไรบ้าง ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือฟรี...ด้วยหลักมนุษยธรรมจริงหรือไม่ ในขณะที่งบรักษาพยาบาลของไทยยังมีปัญหา ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลแรงงานต่างด้าวเข้ารับการรักษาในประเทศไทย โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในสังคมออนไลน์ว่า ตัวเลขตลอด 5 ปี โรงพยาบาลรัฐของไทยรับรักษาโดยไม่ได้ค่ารักษาใดๆรวมเป็นเงินเกือบ 13,000 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลประชากรข้ามชาติแห่คลอดลูกและใช้สิทธิรักษาฟรี ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข สั่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และจะหารือในสัปดาห์หน้า
นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ ว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการดูแลรักษาทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ ครอบคลุมผู้ที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทยด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยจัดตั้งกองทุนต่างๆ รวมถึงมีเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม
3 สิทธิรักษาคนต่างด้าว ฟรีและไม่ฟรี
เบื้องต้นมีการจัดการสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 3 ส่วน
1.บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐ (ท.99)
เป็นบุคคลที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทย และได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก จากกระทรวงมหาดไทย และปรากฏรายการบุคคลในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย กลุ่มนี้จะมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยใช้ กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนกับกองทุน 723,603 คน
2.แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนถูกต้อง
แรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน นายจ้างจะส่งเข้าประกันสังคมแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ การรักษาพยาบาล เงินทดแทนรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ และสิทธิในกรณีว่างงาน
3.กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข หรือการซื้อประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือกำลังรอสิทธิ รวมทั้งผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว โดยอายุความคุ้มครองจะแตกต่างกันไปตามค่าประกันสุขภาพ ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการให้บริการของสถานพยาบาล
ต่างด้าว ท.99 รับสิทธิรักษาต้องมีเงื่อนไข
นพ.มณเฑียรกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มที่จะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ ท.99 นั้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือแจ้งซักซ้อมแนวทางการขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มบุคคลที่สามารถขอรับสิทธิได้ จะต้องได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก จากกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม. ที่กำหนดให้การขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และต้องยื่นหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวบุคคล ทะเบียนบ้าน และหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
หากไม่มีเงิน พิจารณาตามหลักมนุษยธรรม
“ส่วนกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และไม่ใช่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามที่มติ ครม.กำหนด หากเข้ารับบริการสาธารณสุขจะต้องชำระค่าบริการเอง อย่างไรก็ตาม บางส่วนที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ อาจขอความอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล โดยหน่วยบริการจะพิจารณาตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เรียกเก็บไม่ได้นี้ จะมีงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง” นพ.มณเฑียร กล่าว