ข่าว

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย

30 ธ.ค. 2567

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย เป้าหมายเฉพาะพื้นที่ มีประชากรช้างป่ามาก จนกระทบ ปชช.

30 ธ.ค. 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจ้งกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนิน "โครงการควบคุมประชากรช้างป่า โดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด" อันเป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว และอาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเกิดความสับสน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมได้

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอเรียนให้ทราบว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันและมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาคนกับช้างป่าเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียกระทั่งบาดเจ็บ เสียชีวิตทั้งคนและช้างป่าเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-ปัจจุบัน มีรายงานประชาชนเสียชีวิตจากช้างป่า 240 ราย ได้รับบาดเจ็บ 208 ราย และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและพืชผลของประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย

เหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาและได้จัดตั้ง "คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า" นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างป่า ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ กรมอุทยานฯ ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอนุรักษ์และจัดการช้างในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีระบบ เหมาะสม และยั่งยืน ประกอบด้วย

  • 1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
  • 2.แนวป้องกันช้างป่า
  • 3.ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน
  • 4.การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
  • 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน
  • 6.การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด


ประกอบกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงาน และศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน สภาผู้แทนราษฎร ยังได้เสนอให้ใช้วัคซีนในการคุมกำเนิดช้างป่า เพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมจำนวนประชากรช้างป่า และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับช้างป่า การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้มอบหมายและสั่งการให้ กรมอุทยานฯ ดำเนินการโดยเร่งด่วน เป็นความพยายามและมุ่งมั่นต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ เป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์ประชากรช้างป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ที่ถิ่นอาศัยไม่สามารถรองรับประชากรดังกล่าวได้แล้ว โดยปัจจุบันพบว่ามีช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 4,013- 4,422 ตัว ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประสบปัญหา และได้รับผลกระทบจากช้างป่าทั้งสิ้น 71 แห่ง

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย

การจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้าง จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นการวางแผนรองรับการจัดการประชากรช้างป่าในอนาคต ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า โดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ซึ่งมีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว ได้เริ่มดำเนินโครงการทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างเพศเมียเต็มวัย จำนวน 7 เชือก ตั้งแต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2567 มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็ม จะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปี และวัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรม และสรีระของช้าง เป็นเพียงควบคุมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูก

ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีน พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่องเพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า


การดำเนินการควบคุมประชากรช้างป่า โดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีเป้าหมายดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรช้างป่ามากจนเกินศักยภาพของพื้นที่อนุรักษ์และขนาดของพื้นที่ป่าจะรองรับได้ เช่น ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรช้างป่าที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุด และกำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงมากจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์

ทั้งนี้ การควบคุมประชากรช้างป่าโดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม มีแผนดำเนินงานที่รัดกุม ผ่านการศึกษาวิจัยที่มีการทดสอบ ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ตามหลักทางวิชาการและเทคนิคการสัตวแพทย์ มีการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งการศึกษาจำนวน โครงสร้างชั้นอายุ สัดส่วนเพศของประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ

การจำแนกตัวและทำอัตลักษณ์ช้างป่าแต่ละตัวในแต่ละฝูง แนวทางการติดตามช้างป่าโดยการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ติดตามตัว การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า และให้ทุกภาคส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในดูแล เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ต่อไป

กรมอุทยานฯ ชี้แจง ควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ย้ำ มีความปลอดภัย