ข่าว

บุกทลายโกดัง!  อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

บุกทลายโกดัง! อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

10 ม.ค. 2568

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) อย. บุกทลายโกดัง! กระจายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม-เครื่องสำอางหลายยี่ห้อ ยึดของกลางกว่า 7 หมื่นชิ้น มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท

ปฏิบัติการทลายโกดังจัดเก็บและกระจายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ในพื้นที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดของกลาง 12 รายการ จำนวน 72,797 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,549,000 บาท พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง หากประชาชนซื้อบริโภคอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ กอปรกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาจัดเก็บไว้ที่โกดังจุดดังกล่าว  

 

บุกทลายโกดัง!  อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายมาเก็บไว้ในพื้นที่ดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อขออนุมัติหมายค้น ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นของศาลแเขวงพระนครเหนือ เข้าทำการตรวจค้นสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางดังกล่าว พบ น.ส.อินทุอร (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว โดยขณะเข้าทำการตรวจค้นยังพบวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยพบส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น แป้ง ผงคอลลาเจน สีผสมอาหาร ฯลฯ บรรจุถุงวางอยู่บริเวณพื้นในห้องผสม และพบเครื่องจักรที่ใช้ผลิต เช่น เครื่องผสมวัตถุดิบ, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ

 

บุกทลายโกดัง!  อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

ตรวจยึดและอายัดของกลาง 
     

     1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Wonder Powder ขนาด 30 กรัม จำนวน 14,856 ขวด
     2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Wonder Powder ขนาด 100 กรัม จำนวน 107 ขวด
     3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแม็กซ์ โปร กรีน ตรา หญิงเนส จำนวน 5 กล่อง
     4. เครื่องดื่มผสมคอลลาเจนและวิตามินซี ยี่ห้อเรจู จำนวน 3,612 ขวด
     5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนรสช็อกโกแลต ยี่ห้อ H&O จำนวน 116 กล่อง
     6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนรสช็อกโกแลต ยี่ห้อโมเดิร์นแม็กซ์ จำนวน 41 ถุง
     7. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรตีนพืชแกรนด์เดย์ รสองุ่น จำนวน 26 กล่อง
     8. กล่องบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน รสช็อกโกแลต ยี่ห้อ H&O จำนวน 250 ชิ้น
     9. บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน รสช็อกโกแลต ยี่ห้อโมเดิร์นแม็กซ์ จำนวน 8,400 ชิ้น
     10. กล่องบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแม็กซ์ โปร กรีน ตรา หญิงเนส จำนวน 500 ชิ้น
     11. ขวดแก้วสีชาสำหรับบรรจุเครื่องดื่มสำเร็จรูป จำนวน 40,000 ขวด
     12. กล่องบรรจุภัณฑ์ จำนวน 5,000 ชิ้น

รวมตรวจยึดของกลางจำนวน 12 รายการ จำนวน 72,797 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,549,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ.ดำเนินคดี จากการตรวจสอบ พบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวได้รับอนุญาตผลิตอาหารถูกต้องแต่จะผลิตตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง และส่งสินค้าให้ลูกค้าตามออเดอร์ ในพื้นที่เขตดอนเมืองและกรุงเทพมหานคร ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้เข้ามารับเอง หรือจัดส่งให้ตามที่ลูกค้าแจ้ง โดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี โดยในการตรวจค้นในครั้งนี้ พบ “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Wonder Powder” แสดงสรรพคุณในฉลากเชิงรักษาโรคว่า “เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเกิดบาดแผลได้ง่าย แผลเรื้อรัง ผิวหนังแพ้ง่าย ผิวหนังอักเสบ ที่มักพบในผู้สูงอายุ” ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้กับผิวกายภายนอก เพื่อความสะอาด สวยงาม แต่งกลิ่นหอม และสามารถปกป้องหรือส่งเสริมให้ร่างกายดูดีขึ้น การแสดงข้อความในลักษณะดังกล่าวจึงเข้าข่ายแสดงฉลากที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง

 

บุกทลายโกดัง!  อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน

 

อนึ่งจากการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 6 ยี่ห้อ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีขายตามท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดในครั้งนี้มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ฉลากเครื่องสำอางแสดงสรรพคุณในเชิงรักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่แสดงส่วนผสมอาหารเป็นภาษาไทย ไม่แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เมื่อนำไปบริโภคอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป

 

เบื้องต้นเป็นความผิด


     1. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท


     2. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากมีข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


     3. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

บุกทลายโกดัง!  อาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2.5 ล้าน