วิธีเอาตัวรอด เหตุเพลิงไหม้ ไฟไหม้อาคารบ้านเรือน พร้อมสายด่วนแจ้งเหตุ
วิธีเอาตัวรอด เหตุเพลิงไหม้ ไฟไหม้อาคารบ้านเรือน วิธีอพยพออกจากอาคารให้ปลอดภัย พร้อมเปิด 15 สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉิน
จากกรณีเหตุไฟไหม้ใหญ่ ในเมือง ลอสแอนเจลิส ทวีความรุนแรงขยายวงกว้างจนต้องอพยพประชาชนอยู่ในที่ๆ ปลอดภัย จากรายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย ความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ 10,000 - 50,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ไฟป่ายังคงควบคุมไว้ได้ 0% บ้านเรือนประชาชนถูกเผาวอด
ขณะที่ประเทศไทย ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวอากาศแห้งและมีลมแรง สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเหตุไฟไหม้ เพลิงไหม คมชัดลึกออนไลน์ เปิดวิธีเอาตัวรอดหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไฟไหม้ในบ้าน หรือตัวอาคาร ควรทำอย่างไรให้รอดปลอดภัย
การปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้
1. ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น
- เพลิงไหม้เล็กน้อย: ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้า 199 ที่มาควบคุมเพลิง
- เพลิงไหม้รุนแรง: ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ จากนั้นให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
2. ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู
- หากไม่ร้อน: ให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย
- หากมีความร้อนสูง: ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะอยู่ในวงล้อมของเพลิงใหม้ ให้ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ จากนั้นโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้
- หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสุดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิต
- อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยหนีไฟไปในทิศทางเดียวกับควันไฟและความร้อน พร้อมหมอบคลานต่ำหรือย่อตัว
- ให้ใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือพื้นในระดับไม่เกิน 1 ฟุต
- ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอก เสียชีวิต
- ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
- ข้อควรรู้ในการอพยพหนีไฟ
- ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
- ไม่เข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้
- ไม่ขึ้นไปชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้
- กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอน ราบกับพื้น กลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามรวดเร็วขึ้น
- กรณีติดอยู่ในอาคารให้โทรศัพท์แจ้งเหตุ พร้อมระบุตำแหน่งที่ติดอยู่ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่อยู่ภายนอกอาคาร อาทิ โบกผ้า ใช้ไฟฉาย เป่านกหวีด
- ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจถูกไฟคลอกหรือได้รับอันตรายจากโครงสร้างอาคารที่พังถล่มลงมา
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ใช่เพียงเหตุไฟไหม้เท่านั้น สามารถโทรตามสายด่วนหมายเลขดังนี้
- 1669 The BMA Erawan Center ศูนย์เอราวัณ กทม.
- 199 Fires Accident and Animals Entering the Houses Report แจ้งไฟไหม้ สัตว์เข้าบ้าน
- 1646 Health Hotline, the BMA Medical Service Department สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม.
- 191 Emergency Report เหตุด่วนเหตุร้าย
- 1197 Traffic Information ข้อมูลจราจร
- 1300 Missing Person Report แจ้งคนหาย
- 1233 Accidents on Tollway อุบัติเหตุบนโทลล์เวย์
- 1554 Vajira Hospital Resuscitation Unit หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล
- 1193 Highway Police ตำรวจทางหลวง
- 1192 Hotline for Vehicle Lost สายด่วนรถหาย
- 1586 Accidents on Highway and Motorway อุบัติเหตุบนทางหลวงและมอเตอร์เวย์
- 1146 Department of Rural Roads กรมทางหลวงชนบท
- 1155 Tourist Police ตำรวจท่องเที่ยว
- 1543 Accidents on Expressway อุบัติเหตุบนทางด่วน
- 1196 Water Accidents อุบัติเหตุทางน้ำ
ที่มา : สสส,กรุงเทพมหานคร