
เกษตรกรชาวไร่อ้อย อุดรฯ เฮ! โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี รับอ้อยเผา 2 หมื่นตัน
เกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.อุดรธานี เฮ! โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เปิดรับคาราวานอ้อยไฟไหม้ 2 หมื่นตันเข้าโรงงานแล้ว
19 ม.ค. 2568 กรณีโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กำลังผลิต 35,000 ตันต่อวัน ได้รับคำสั่งจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้หยุดเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาล หลังจากมีการทดลองเครื่องจักร เป็นเหตุให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่นำอ้อยเผามาขายให้กับโรงงาน ไม่สามารถขายได้ สร้างความงุนงงให้กับชาวไร่อ้อย จนจะนำรถอ้อยมาปิดถนน
พร้อมทั้งทำหนังสือผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ถึง รมว.อุตสาหกรรม ขณะเดียวกันในพื้นที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และนายอำเภอ เข้าเจรจา เพื่อขอให้มีการผ่อนปรนสั่งการมายังโรงงานให้รับซื้ออ้อยเผาที่ตอนนี้เหลืออยู่ 975 คัน มีอ้อยประมาณ 20,000 ตัน หากปล่อยไว้เกิน 72 ชั่วโมง นับจากนี้ไปจะทำให้อ้อยเสื่อมคุณภาพ ความเสียหาย 14 ล้านบาทเศษ ชาวไร่อ้อยขาดทุนแน่
ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อย รับปากว่าต่อไปจะเอาเฉพาะอ้อยสดมาขายให้กับโรงงาน โดยเช้าวันนี้ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่หน้าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีอีกครั้ง พบว่ารถบรรทุกอ้อยเผากว่า 975 คัน เริ่มทยอยเข้าโรงงานสลับกับรถอ้อยสด ในอัตรา 6 ต่อ 1 หรือชั่วโมงละ 3 คัน ที่อ้อยเผาเข้าไปได้ โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อย พากันดีใจยิ้มออก
ทั้งนี้เป็นผลมาจาก นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีหนังสือด่วนที่สุด ถึง ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด เรื่อง การหีบอ้อยเผาไฟที่ค้างอยู่ในลานของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี มีใจความว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึง สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือ นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอความอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ อนุญาตหีบอ้อยเผาไฟที่ตกค้างในลานของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี รวมทั้งสิ้น 975 คัน น้ำหนักอ้อยรวมประมาณ 20,000 ตัน ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
เพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี บริหารจัดการอ้อยเผาไฟที่ตกค้างอยู่ในลานจำนวน 975 คัน เข้าหีบได้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายจันทร์ ทองบุดดา อายุ 67 ปี ชาวอ.บ้านผือ บอกว่า ดีใจที่ได้รับข่าวดีวันนี้ ผมเอาอ้อยไฟไหม้มารอหน้าโรงงาน 4 วันแล้ว เช้าวันนี้ก็ได้รับข่าวดี โรงงานให้อ้อยเผาเข้าโรงงานได้ 3 คันต่อชั่วโมง แค่นี้ก็อุ่นใจแล้ว รอคิวเอารถเข้าโรงงาน ดีกว่ารอไปลมๆ แล้งๆ จากนี้ไปก็จะไปเอาอ้อยสดมาขายต่อ
นายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาฯ สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดรบ้านผือ เปิดเผยว่า บทสรุปตั้งแต่เมื่อคืนนี้ มีชาวไร่อ้อยนำรถอ้อยเผามาจ่อปิดถนน และทางเราได้ทำหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้รับหนังสือทางเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ถึงโรงงานให้รับอ้อยเผาได้ พวกเราก็รู้สึกดีใจ คาดว่า 3-4 วัน รถอ้อยเผาทั้งหมด 975 คัน น่าจะเข้าโรงงานได้หมด
ทางเรายังได้ทำข้อตกลงกับทางโรงงานและผู้แทนส่วนราชการ สส.ในพื้นที่ ในเขตพื้นที่โรงงานน้ำตาลและกรรมการบริหาร (กบ.) ได้มีแนวทางการพูดคุยให้ดำเนินการ 4 ข้อ ดังนี้คือ 1.อ้อยไฟไหม้ที่จะทำการหีบ ถือเป็นอ้อยเฉพาะกิจ ซึ่งไม่นับรวมว่าเป็นอ้อยที่ต้องหีบตามอัตราส่วนอยู่ในเกณฑ์ 25%
2. อ้อยที่เสียหายไม่สามารถหีบได้ ให้ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือเยียวยาค่าอ้อย ให้แก่ ชาวไร่อ้อยในอัตราที่เหมาะสม 3.เมื่อหีบอ้อยเฉพาะกิจนี้เสร็จแล้ว ให้โรงงานหีบอ้อยตามสัดส่วน ตามที่ภาครัฐกำหนดให้หีบอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 25% ต่อวัน
4. เมื่ออ้อยที่ทำการวิเคราะห์คุณภาพอ้อยไปแล้ว ส่วนที่ได้มาตรฐานก็จ่ายค่าอ้อยตามปกติ แต่ถ้าผลการวิเคราะห์ซ้ำไปแล้วไม่ผ่าน ก็ให้ใช้ค่า (C.C.S.) ที่น้อยกว่าระหว่างค่าเฉลี่ยประจำวันกับค่า (C.C.C.S.) ที่ไม่ได้คุณภาพ จะถูกปฏิเสธการรับซื้อให้คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงาน เป็นผู้ตรวจสอบ และให้ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชดเชยค่าอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย ถือว่าการพูดคุยเข้าใจกันด้วยดี และเรื่องนี้ก็จบด้วยดี
ในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อยขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล สส.พรรคเพื่อไทย ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ และส่วนราชการทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในครั้งนี้ ชาวไร่อ้อยสัญญาว่าต่อไปจะไม่เผาอ้อยอีกแล้ว