ชัดแล้ว! 2 ต้นตอ "ฝุ่น PM2.5" ในกรุงเทพฯ มาจากไหน
ชัดแล้ว! 2 ต้นตอ "ฝุ่น PM2.5" ในกรุงเทพฯ มาจากไหน ด้าน อาจารย์ ม.เกษตรฯ แนะลดฝุ่นจากรถยนต์ แจ้งเตือนล่วงหน้าช่วยได้
23 ม.ค. 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ (KU TOWER) เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นำเยี่ยมชมการทำงานของ KU TOWER
อาจารย์สุรัตน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ติดตามข้อมูลและทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาว่าฝุ่นมีต้นตอมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาก็ได้มีการส่งให้ทาง กทม. ใช้ เพื่อประกอบในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับ KU TOWER เป็นเสาสูงขนาด 117 เมตร ใช้ในการเก็บตัวอย่างลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ โดยมีระดับของการวัดที่ระดับความสูง 5 ระดับคือ 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร และมีเรื่องของฝุ่นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง 3 ระดับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ที่มาของฝุ่น รวมทั้งหาองค์ประกอบทางเคมีว่าฝุ่นเหล่านี้มาจากกิจกรรมประเภทใด
อาจารย์สุรัตน์ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ฝุ่นสูงในช่วงนี้ว่า เกิดจากอากาศเย็น ทำให้อากาศหนัก เมื่ออากาศหนักขึ้นก็จะจมตัวลง ซึ่งการจมตัวลงก็ทำให้ชั้นบรรยากาศมีความแคบลง สิ่งที่อยู่ข้างในก็จะมีความเข้มข้นสูงขึ้น แต่ย้อนหลังกลับไปในช่วงเวลาก่อนหน้าที่อากาศจะจมตัวลง กิจกรรมของมนุษย์เราปล่อยอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรและอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นอยู่ภายใน
จริงๆ แล้ว ฝุ่นใน กทม. มีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ตัวเลขที่เห็นสูงสุดจะอยู่ประมาณ 50-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ตัวเลขเกินระดับนี้ขึ้นมา แสดงว่ามีฝุ่นจากข้างนอกเข้ามาเติม ซึ่งที่เราพบเป็นเรื่องของฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลที่ลอยเข้ามาแล้วจมตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้นในช่วงเช้า
อย่างไรก็ตาม ปกติฝุ่นจะเข้ามาตลอด แต่เมื่อเจออากาศเย็นที่ไหนก็จะจมตัวลงที่นั่น จึงทำให้เห็นว่าช่วงกลางคืนหลังเที่ยงคืนไปแล้วจะมีความเข้มข้นสูงขึ้น และหากตอนเช้าอากาศยังนิ่งอยู่ประกอบกับมีรถในกรุงเทพฯ ที่เดินทางตอนเช้าก็จะยิ่งทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้น
ในส่วนของสถานการณ์ตอนนี้ฝุ่นมาจากไหน บอกได้ด้วย 2 วิธี
- 1. ดูจากตัวเลขความเข้มข้น ถ้าตัวเลขความข้นข้างบนสูงกว่าข้างล่าง แสดงว่าตอนนั้นฝุ่นมีการลอยเข้ามา
- 2. นำตัวอย่างกระดาษกรองฝุ่นละอองไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี แล้วเราก็จะบอกได้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างและมาจากกิจกรรมอะไร
โดยเช้าวันนี้ที่ระยะความสูง 75 เมตร ฝุ่นมีความเข้มข้นสูง แสดงให้เห็นว่าอากาศมีการจมตัว
อาจารย์สุรัตน์ ให้ความเห็นว่าการจะแก้ปัญหาฝุ่นสูงตอนนี้ เนื่องจากปัญหาหลักอยู่ที่การเผาไหม้ข้างนอก ในกรุงเทพมหานครจึงควรทำในส่วนที่ทำได้ คือมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากในพื้นที่ ซึ่งก็คือฝุ่นจากรถยนต์ต่างๆ และสิ่งที่ช่วยได้เยอะคือการพยากรณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าช่วงไหนจะเป็นอย่างไร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานครได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ WORK FROM HOME (WFH) หรือมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) แต่เราไม่สามารถห้ามรถทุกคันเข้ามาได้เนื่องจากอาจกระทบกับเศรษฐกิจ จึงใช้หลักการจูงใจให้คนทำดี ร่วมดูแลรักษารถให้อยู่ในมาตรฐานและขึ้นทะเบียน Green List โดยนำเทคโนโลยี CCTV และ AI เข้ามาตรวจควบคุม
ซึ่งภายหลังบังคับใช้ LEZ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ถึงประมาณช่วงเช้าของวันนี้ (23 ม.ค. 68) ได้ตรวจพบว่ามีรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ที่ไม่ได้อยู่ใน Green List ฝ่าฝืนเข้ามาพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก กว่า 700 คัน ซึ่งต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป
ในการนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้พูดคุยกับคณะอาจารย์และนิสิตคณะสิ่งแวดล้อม มก. ถึงแนวทางที่ควรทำ ซึ่งบางข้อเสนอแนะเป็นเชิงนโยบายและไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม. อาทิ ควรมีนโยบายให้นำรถเก่าออกจากระบบ นำรถเมล์ควันดำออกจากระบบ ห้ามเผา (จังหวัดในอื่น ๆ และประเทศเพื่อนบ้าน) บางข้อคิดเห็นเป็นสิ่งที่ กทม. ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ การแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า หาแนวทางใช้ประโยชน์จากขยะทางการเกษตร เช่นที่ กทม. ดำเนินการใช้เครื่องอัดฟางข้าวเพื่อลดการเผา เป็นต้น
"พวกเราเป็นความหวัง ขอให้พยายามหาทางช่วยกัน จบมาก็ให้มาทำงานด้านนี้ ขอบคุณน้อง ๆ มากที่ช่วยกันคิดโดยใช้วิทยาศาสตร์นำในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา และขอขอบคุณอาจารย์ที่สนับสนุนข้อมูลแก่ กทม. คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายในวันเสาร์ (25 ม.ค. 68) ทางเราก็พยายามทำทุกวิถีทางที่ทำได้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว