ข่าว

เปิด 7 วิธีรับมือ "พายุฤดูร้อน" เตรียมความพร้อม เพื่อความปลอดภัย

เปิด 7 วิธีรับมือ "พายุฤดูร้อน" เตรียมความพร้อม เพื่อความปลอดภัย

28 เม.ย. 2568

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 7 วิธีรับมือ "พายุฤดูร้อน" เตรียมความพร้อม เพื่อความปลอดภัย ทางร่างกาย และชีวิตทรัพย์สิน

พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) ในประเทศไทยมักเกิดในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน เป็นสาเหตุทำให้เกิดพายุฟ้าคะนอง ลมพัดแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด

ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นเดียวกันแต่ไม่บ่อยนัก แต่เราก็ต้องเตรียมตัวรับมือ ด้วย 7 วิธีดังนี้
 

 

เปิด 7 วิธีรับมือ \"พายุฤดูร้อน\" เตรียมความพร้อม เพื่อความปลอดภัย

 1. "ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและแจ้งเตือนพายุฤดูร้อน" จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนบนของประเทศไทย

2.  "ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารบ้านเรือน"  ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง หากมีการชำรุดให้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย

3.  "หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง"  ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

4.  "หลบในบ้าน หรือ อาคารที่มีความแข็งแรง" ในกรณีที่หาที่หลบไม่ได้ควรทำตัวให้ต่ำสุด ด้วยการนั่งยองเท้าทั้งสองข้างชิดกัน หรือเขย่งอยู่บนปลายเท้า เพื่อให้มีผิวสัมผัสกับพื้นดินน้อยที่สุด ไม่ควรนอนราบกับพื้น เนื่องจากพื้นเปียกเป็นสื่อนำไฟฟ้า

5.  "เพิ่มความระมัดระวัง ในการเดินทาง" ไปยังบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้

6.  "งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า" โทรศัพท์ และออกห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ ท่อน้ำ แนวรั้วบ้าน รถแทรกเตอร์ จักรยานยนต์ เป็นต้น

7. "ดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้แข็งแรงอยู่เสมอ" โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว