ข่าว

นายแพทย์ สสจ.ตาก ยอมรับ รพ.แม่สอด ขาดแคลนบุคลากร ภาระงานสูง

นายแพทย์ สสจ.ตาก ยอมรับ รพ.แม่สอด ขาดแคลนบุคลากร ภาระงานสูง

23 มี.ค. 2568

นายแพทย์ สสจ.ตาก ยอมรับ รพ.แม่สอด ขาดแคลนบุคลากร ภาระงานแผนกอายุรกรรม สูงกว่าพื้นที่อื่น เปิดมาตรการ สธ. เร่งแก้ปัญหาต่างด้าว

23 มี.ค. 2568 นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวถึงภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานบริการพื้นที่ชายแดน ซึ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นมากเนื่องจากต้องให้การดูแลประชากรต่างด้าว ทั้งเรื่องรักษาพยาบาลและการป้องกันควบคุมโรค ว่า

จากรายงานของสภาการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ หากคิดเฉพาะประชากรไทย อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของจังหวัดตาก อยู่ที่ 1 : 2,864 ซึ่งสูงกว่าพื้นที่ทั่วไปอยู่แล้ว หากนำประชากรที่ไม่ใช่คนไทยมาคำนวณด้วยอัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 : 5,122

อย่างไรก็ตามการคิดคำนวณอัตราส่วนที่แท้จริงทำได้ยาก เพราะประชากรที่ไม่ใช่คนไทยมีการเคลื่อนย้ายตลอด รวมทั้งยังมีแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชนและองค์กรต่างประเทศให้บริการผู้ป่วยต่างด้าวในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง

นพ.พิทักษ์พงษ์ กล่าวต่อว่า อัตรากำลังทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ของโรงพยาบาลแม่สอด ถือว่ายังขาดอยู่ โดยเฉพาะภาระงานของแผนกอายุรกรรม พบว่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ แม้ในภาพรวมอัตราส่วนการเข้ารับบริการ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในต่อแพทย์ทั้งหมด จะไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบปัญหาและให้เร่งหาแนวทางแก้ไข โดยในระยะสั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และนำระบบลงทะเบียนสุขภาพด้วยอัตลักษณ์ม่านตาเพื่อระบุตัวตน (Biometrics) ของสภากาชาดไทยมาใช้

เพื่อให้ต่างชาติที่เข้ามารักษาหรือทำงานได้มีหลักประกันสุขภาพ และลดภาระภาษีของคนไทย รวมทั้งได้ข้อมูลประชากรต่างด้าวที่เข้ามาใช้บริการอย่างถูกต้อง เห็นภาระงานที่ชัดเจนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด ปัจจุบันเก็บอัตลักษณ์ต่างด้าวไปแล้ว 7,616 คน และจะมีการเร่งรัดนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป


ขณะเดียวกันมีการลดภาระงาน เช่น การใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้สุขภาพชายแดนช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพต่างด้าว เป็นต้น ส่วนในระยะยาวมีแผนยุทธศาตร์กำลังคน โดยเฉพาะการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.) หรือร่างกฎหมายแยกตัวออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารบุคลากรรองรับความต้องการบริการสุขภาพของคนไทย/ต่างชาติ ได้อย่างคล่องตัว สอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่เป็นภาระงบประมาณ ส่งผลให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ