
ทำความรู้จัก "รอยเลื่อนสะกาย" สาเหตุแผ่นดินไหวใหญ่วันนี้
ทำความรู้จัก "รอยเลื่อนสะกาย" รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งถูกขนานนาม "ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า" และเป็นสาเหตุแผ่นดินไหววันนี้
28 มี.ค. 2568 หลังจากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร สำหรับสาเหตุแผ่นดินไหว เกิดจาก "รอยเลื่อนสะกาย" ทำให้รู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 19 มิ.ย. 2565 มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "รอยเลื่อนสะกาย" (Sagaing Fault) ว่า เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีความยาวประมาณ 1,200 กม. วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศเมียนมา โดยถูกขนานนามว่า "ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า" เคยเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ขนาด 2.9 - 7.3 ประมาณ 280 ครั้ง
จากบทความ รอยเลื่อนสะกาย-ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า โดย สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี (2557) แปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม ประเมินเกี่ยวกับรอยเลื่อนสะกายไว้ ดังนี้
รอยเลื่อนสะกาย มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญของเมียนมา
เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) ทั้งยังยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน
ตลอดแนวรอยเลื่อนสะกาย พบภูมิประเทศที่แสดงถึงการปริแตกของเปลือกโลกอยู่หลายแบบ เช่น ผารอยเลื่อน (fault scarp) เนินเขาขวาง (shutter ridge) หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ทางน้ำหัวขาด (beheaded stream) และทางน้ำหักงอ (offset stream) ซึ่งภูมิประเทศเหล่านี้ช่วยยืนยันว่า รอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวแบบเหลื่อมข้างชนิดขวาเข้า (dextral strike-slip fault)
ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยา (Curray, 2005) เชื่อว่า รอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)
อย่างไรก็ดี ผลจากการเคลื่อนที่ในปัจจุบันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) เข้าชนยูเรเซียในแนวตะวันออกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ทำให้รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเก่าที่ยังไม่เชื่อมกันสนิทดี ขยับตามไปด้วย จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างหินแปรบริเวณเมืองโมกก (Mogok metamorphic belt) ที่เกิดจากการเบียดบี้กันของแผ่นซุนดาและแผ่นพม่า
สรุปว่า รอยเลื่อนสะกายเริ่มขยับตัวแบบเป็นจริงเป็นจัง เมื่อประมาณ 16–22 ล้านปี ที่ผ่านมา (Searle และคณะ, 2007)
ขอบคุณภาพและข้อมูล : มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัตแห่งชาติ, บทความวิชาการ "อุตุนิยมวิทยา", ฐานเศรษฐกิจ