
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยืนยัน ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต ใต้ซากอาคารถล่ม
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต เร่งใช้เครน เจาะซากอาคาร 30 ชั้น ส่งสุนัขกู้ภัย เข้ายืนยันตำแหน่ง ย้ำทุกนาทีมีค่า
29 มี.ค. 2568 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลให้ตึก 30 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่ม
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการเหตุการณ์หน้างานระบุว่า มีผู้ประสบภัยทั้งหมด 96 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 8 ราย รอดชีวิต 8 ราย และมีผู้มารายงานตัว 1 ราย ส่วนผู้สูญหาย อยู่ที่ 79 ราย ซึ่งจากการใช้เรดาร์ตรวจสอบพิกัด พบว่ามี 30 ราย ที่สามารถระบุตำแหน่งได้แล้ว ขณะที่อีก 49 ราย ยังไม่สามารถระบุพิกัดได้
ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่าการบริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างเป็นระบบ แม้ว่าด้านนอกอาจดูวุ่นวาย แต่ภายในจุดปฏิบัติงานมีระเบียบเรียบร้อย โดยมีนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กู้ภัย และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง
ขณะนี้ปฏิบัติการกู้ภัยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยกู้ภัยใช้เครื่องมือหนักในการเจาะเข้าไปภายในซากอาคารเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้รอดชีวิตหรือไม่ ก่อนนำสุนัขกู้ภัยเข้าตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่ายังมีผู้รอดชีวิตอยู่ โดยเฉพาะบริเวณชั้นใต้ดินของอาคารที่อาจมีโพรงอากาศ ซึ่งทำให้ผู้ที่ติดอยู่สามารถรอดชีวิตได้
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในปฏิบัติการ มีการนำเครนขนาด 200-600 ตัน และรถแบ็คโฮของทหารเข้ามาช่วยในการยกและเคลื่อนย้ายซากอาคาร โดยการรถไฟฯ ได้จัดสถานที่สำหรับนำเศษซากไปถมที่ ทั้งหมดดำเนินการตามแผนอย่างเป็นระเบียบและได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการต้องใช้เวลา เนื่องจากยังมีอุปสรรคจากโครงสร้างอาคารที่พังถล่ม
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ :
1. บริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุ ให้หน่วยกู้ภัยสามารถลงทะเบียนและจัดโครงสร้างการทำงานให้ชัดเจน
2. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้แก่ต่างประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์ดูแล
3. ตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่ ให้ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างอาคารสูงทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
4. แก้ไขปัญหาจราจร โดยหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการเปิดเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ
5. เร่งเก็บกู้ซากเครนขนาด 5 ตัน ให้แล้วเสร็จก่อนวันจันทร์นี้
6. รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยอิสราเอลจะส่งอุปกรณ์กู้ภัยมาสนับสนุน
นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่ถล่ม ว่าเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งเป็นอาคารของหน่วยงานราชการ
ในขณะเดียวกัน ประชาชนได้แจ้งปัญหารอยแตกร้าวของอาคารผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue แล้วกว่า 6,000 รายการ โดยทีมวิศวกรอาสาจะเร่งตรวจสอบ และหากพบว่าอาคารใดเสียหายรุนแรง จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ทันที
นายชัชชาติ ย้ำว่า ปฏิบัติการค้นหายังดำเนินต่อไป เพราะทุกนาทีมีความหมาย ครอบครัวของผู้สูญหายยังคงรอคอยข่าวดีจากเจ้าหน้าที่ “หน้าที่ของเราคือหาผู้รอดชีวิตให้ได้ และจะไม่หยุดจนกว่าจะมั่นใจว่าทุกคนได้รับความช่วยเหลือ” ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปกติ มีเพียงจุดเดียวที่ได้รับผลกระทบจากอาคารถล่ม
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่กระทบต่อเทศกาลสงกรานต์ กรุงเทพมหานครยังคงเดินหน้าฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน โดยยึดหลักข้อเท็จจริงและมาตรฐานความปลอดภัย