ข่าว

สธ. แจงปม!ส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา สพศท. แนะต้องรอบคอบ ปลอดภัย

สธ. แจงปม!ส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา สพศท. แนะต้องรอบคอบ ปลอดภัย

06 เม.ย. 2568

สธ.แจงรายละเอียดส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา ด้าน สพศท.แนะรัฐส่ง "ทีมแพทย์" ช่วยเมียนมายามภัยพิบัติ ต้องรอบคอบ ยึดสมัครใจ ปลอดภัย มีความพร้อม

ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้เตรียมการส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Emergency Medical Team : EMT) ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่เมืองเนปิดอร์และมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา หลังได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าเมียนมาแจ้งขอรับการสนับสนุน

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

 

ในส่วนของการส่งทีม Thailand EMT จะดำเนินการหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ความปลอดภัยสูงสุด โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของบุคลากร ทั้งนี้ ต้องเป็นบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งทฤษฎีและภาคสนามตามหลักสูตร MERT ของกรมการแพทย์มาอย่างดี และสามารถไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยสัปดาห์ที่ 1 จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และดูแลการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ โดยทีมกรมการแพทย์ และสัปดาห์ที่ 2 - 4 จะดูแลการเจ็บป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และการควบคุมโรค โดยทีมแพทย์และสาธารณสุขจากเขตสุขภาพ โดยผู้ไปปฏิบัติงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงในอัตราการเดินทางไปต่างประเทศตามระเบียบที่กำหนดและตามตำแหน่งหน้าที่และค่าครองชีพในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน

 

สธ. แจงปม!ส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา สพศท. แนะต้องรอบคอบ ปลอดภัย

ด้าน สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) แสดงจุดยืนประเด็น “ส่งทีมแพทย์ไทย” ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา ด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมีความพร้อม ปลอดภัย และเคารพสิทธิของบุคลากรอย่างสูงสุด

 

การจัดทีมช่วยเหลือควรเริ่มจากการเปิดรับ “อาสาสมัคร” ที่มีความพร้อม โดยไม่ใช้รูปแบบการบังคับ ซึ่งอาจกระทบต่อขวัญกำลังใจของบุคลากร ทีมแรกควรมีจำนวนไม่เกิน 15 – 20 คน โดยมีผู้บริหารระดับสูง อาทิ รองปลัดกระทรวง หรือผู้ตรวจราชการ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อกำกับดูแลและตัดสินใจในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบของทีมควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์กระดูก พยาบาลเฉพาะทางด้านฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยกู้ชีพและกู้ภัย พร้อมด้วยเครื่องมือ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงกระโจมนิรภัยหรือรถผ่าตัดเคลื่อนที่

 

สธ. แจงปม!ส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา สพศท. แนะต้องรอบคอบ ปลอดภัย

 

ควรมีการประเมินแผนลำเลียงผู้ป่วยในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะกรณีที่ถนนหรือสะพานถูกตัดขาด ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนย้าย อีกทั้งต้องเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานที่มั่นคงปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาฟเตอร์ช็อกหรือเหตุไม่สงบ และต้องมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือสามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้หากจำเป็น ระบบการสื่อสารต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งระบบหลักและสำรอง เช่น วิทยุสื่อสาร หากระบบโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง และควรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. เพื่อสนับสนุนอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม

 

ในกรณีที่ข้าราชการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ อาจได้รับการชดเชยตามสิทธิราชการ หรือหากได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติงานต่อได้ ก็อาจมีสิทธิเกษียณด้วยเหตุพิเศษ อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ฯ เห็นว่าการดำเนินภารกิจในพื้นที่เสี่ยงเช่นนี้ รัฐบาลควรจัดทำ “ประกันภัยหมู่” อย่างเหมาะสม ครอบคลุมทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่บุคลากรและครอบครัวของผู้ปฏิบัติงาน สมาพันธ์ฯ ขอยืนยันว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ แต่การดำเนินการต้องมีความพร้อม ปลอดภัย และเคารพสิทธิของบุคลากรอย่างสูงสุด

 

สธ. แจงปม!ส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเมียนมา สพศท. แนะต้องรอบคอบ ปลอดภัย