ข่าว

มติ กสม. ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก ละเมิดสิทธิ ฝ่าฝืนเพิกถอนใบอนุญาต

มติ กสม. ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก ละเมิดสิทธิ ฝ่าฝืนเพิกถอนใบอนุญาต

11 เม.ย. 2568

กสม. มีมติห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก เข้าข่ายละเมิดสิทธิ ถูกบูลลี่ ฝ่าฝืนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางมาตรการป้องกัน

11 เม.ย. 2568 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อปี 2567 กสม. รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ กรณีข้าราชการครูมีพฤติกรรมนำเด็กนักเรียนไปทำเนื้อหาหรือคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ โดยไม่ปกปิดอัตลักษณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ในขณะนั้นจึงได้ประสานความช่วยเหลือ โดยส่งเรื่องไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 10 จังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 

 

ต่อมาในที่ประชุม คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันมีข้าราชการครูและผู้ปกครองจำนวนมากที่นำเด็กไปทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ จึงมีมติให้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ 
 

กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การนำเด็กไปทำคอนเทนต์เป็นประเด็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คอนเทนต์เด็กมีทั้งคอนเทนต์ที่เป็นการแสดงออกซึ่งพฤติกรรม ท่าทาง หรือคำพูดของเด็กที่เน้นความน่ารัก ตลก และไร้เดียงสา คอนเทนต์เกี่ยวกับการสอน การทำกิจกรรมหรือการพัฒนาเด็ก และคอนเทนต์ที่เน้นการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยมีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู เป็นผู้ผลิต และเผยแพร่ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กอยู่ในลักษณะเปลือยหรือกึ่งเปลือย เด็กมีอาการร้องไห้ หวาดกลัว วิตกกังวล ใช้วาจาไม่สุภาพ แสดงกิริยาท่าทางหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วนมักทำคอนเทนต์เด็กในพื้นที่โรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งมีทั้งกรณีที่เด็กหรือผู้ปกครองไม่ได้ให้ความยินยอม หรือให้ความยินยอมแล้ว แต่ไม่ได้อยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจที่รอบด้านและไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เด็กอาจได้รับในอนาคต

 

กสม. เห็นว่า เป็นช่องทางในการแสวงประโยชน์จากเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเพื่อการเพิ่มยอดไลก์ ยอดแชร์ และยอดผู้ติดตาม การรับโฆษณาสินค้า ที่ทำให้เด็กถูกนำเสนอเสมือนเป็นสินค้าเพื่อให้ได้รับความสนใจจากสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้น นำไปสู่การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์ อาจทำให้เด็กถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือมีลักษณะลามกอนาจาร ถูกติดตาม และถูกข่มขู่คุกคาม รวมทั้งอาจถูกนำข้อมูลไปใช้โดยพวกใคร่เด็ก ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จากการได้รับข้อความหรือความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย วิตกกังวล หรือหวาดกลัวการเข้าสังคม หรืออาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ 

มติ กสม. ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก ละเมิดสิทธิ ฝ่าฝืนเพิกถอนใบอนุญาต

 

การเผยแพร่ปราศจากการควบคุมและการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ และขาดความตระหนักรู้ถึงสิทธิเด็กและผลกระทบต่อเด็กอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA รวมถึงปัญหาร่องรอยดิจิทัลที่สามารถย้อนกลับมาส่งผลเสียให้แก่เด็กในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้การเผยแพร่อาจไม่มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ด้านลบก็ตาม เด็กต้องได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

 

ดังนั้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 เม.ย. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการนำเด็กไปทำคอนเทนต์เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

 

1.ให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางการป้องกันไม่ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานำเด็กไปทำคอนเทนต์ไว้ในแผนงานหรือนโยบายของกระทรวงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคอนเทนต์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิเด็ก และไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งจัดให้มีแผนปฏิบัติการ หรือการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

2.ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หน่วยงานทางการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดมีนโยบายคุ้มครองเด็ก (child protection policy) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ โดยมุ่งเน้นการประกาศเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และการจัดทำแผนงาน ระเบียบ คำสั่ง สื่อประชาสัมพันธ์ หรือกลไกที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และจัดให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้และรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติในการเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กของโรงเรียน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก การขออนุญาตและการให้ความยินยอมของเด็กและผู้ปกครอง การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ให้เพิ่มเนื้อหาในหลักสูตร รายวิชา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พร้อมทั้งจัดอบรม ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล หรือภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ


3.ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา กำชับ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้คุรุสภากำชับ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา การกำหนดบทลงโทษ หรือการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์

4.ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพิ่มเนื้อหา แผนงาน โครงการ และกิจกรรมในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในประเด็นสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล

5.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดอบรม ประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อ คู่มือ หรือแนวปฏิบัติที่ช่วยสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเด็ก พ่อ แม่ และผู้ปกครอง เกี่ยวกับการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ตลอดจนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน

 

6.ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ ทั้งในด้านการแจ้งเหตุ การร้องเรียน การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความช่วยเหลือ การประสานส่งต่อ และการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น