
7 วันอันตราย "สงกรานต์2568" รวม 6 วัน ดับแล้ว 200 ราย เจ็บสะสม 1,362 คน
เปิดยอด 7 วันอันตราย "สงกรานต์2568" วันที่ 6 อุบัติเหตุสะสม 1,377 ครั้ง เสียชีวิตรวม 200 ราย
17 เม.ย. 2568 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 17 เม.ย. 2568 เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพหานครและจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อทำงานแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังมีประชาชนบางส่วนหยุดต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงขอกำชับให้ทุกจังหวัด และหน่วยงานทุกภาคส่วน ยังคงดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น โดยเฝ้าระวังป้องกันและบังคับใช้กฎหมายจราจร และอำนวย ความสะดวกในจุดบริการประชาชน การตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดพักรถ เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะการขับรถเร็วและการง่วงหลับใน เนื่องจากผู้ขับขี่อาจพักผ่อนไม่เพียงพอหรือขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนรุนแรงได้
รวมถึงดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก สายรอง เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว เน้นคุมเข้มการขับรถเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน และการใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง ตลอดจนเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับ
นอกจากนี้ ให้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร รถโดยสารสาธารณะ และรถขนส่งสินค้า รวมถึงสภาพรถและระบบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ตลอดจนขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่งผู้โดยสาร ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
สำหรับพื้นที่ที่ยังมีลูกหลานหรือญาติพี่น้องที่ลาหยุดต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์และยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการตรวจสอบลูกบ้านไม่ให้กระทำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ต้นทาง
นายขจร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 83.32 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 16 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 155 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 149 คน ผู้เสียชีวิต 22 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.35 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.35 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 18.06
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.76 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.58 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.42 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.90 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 15.48
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 -18.00 น. ร้อยละ 21.29 เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 17.42 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 14.19 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 16.96 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,754 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,860 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (9 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (9 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ ปทุมธานี อ่างทอง และเพชรบุรี (จังหวัดละ 2 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน-16 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,377 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,362 คน ผู้เสียชีวิต รวม 200 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 15 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (52 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (56 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (16 ราย)